ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า พบว่าคนไทยในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) มีคนโสดอยู่ที่ 40.5% สูงกว่าภาพรวมประเทศที่ 23.9% ‘เกือบเท่าตัว’
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงมาจากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566
ตามข้อมูลในรายงานภาวะสังคมของสภาพัฒน์ที่ย้อนหลังไปถึงปี 2560 พบว่า สัดส่วนของคนไทยที่มีสถานภาพโสดในวัยเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากระดับ 35.7% ในปี 2560 มาแตะระดับ 40.5% ในปี 2566
สอดคล้องกับสัดส่วนของคนไทยที่มีสถานะแต่งงานแล้วที่ลดลงต่อเนื่อง จากระดับ 57.9% ในปี 2560 เหลือ 52.6% ในปี 2566 ท่ามกลางอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น
โดยคนโสดในความหมายของรายงานฉบับนี้หมายถึงผู้ที่ยังไม่เคยสมรส
คนโสดกระจุกตัวอยู่ตรงไหนในไทย
ดนุชายังระบุด้วยว่า คนโสดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง โดยกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนโสดในพื้นที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ถึง 50.4%
เมื่อจำแนกตามการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่โสดส่วนใหญ่คือผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไป คิดเป็น 42% รองลงมาคือผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย คิดเป็น 31.2%
ส่วนผู้ชายที่โสดส่วนใหญ่คือ ผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย คิดเป็น 29.4% รองลงมาคือ ผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมต้น คิดเป็น 28.7%
รายงานยังระบุอีกว่า สถานการณ์ข้างต้นเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญต่อเป้าหมายการเพิ่มประชากร ดังนั้นหากไทยต้องการส่งเสริมให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีคู่ของคนโสดด้วย จากการทบทวนงานศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสดประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
- ค่านิยมทางสังคม
- ปัญหาความต้องการ / ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน
- โอกาสในการพบปะผู้คน
- นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุมความต้องการ
โดยค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ได้แก่ SINK (Single Income, No Kids) หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก โดยกลุ่มนี้เน้นใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตนเองเป็นหลัก เช่น การท่องเที่ยว สุขภาพและความงาม รวมทั้งที่อยู่อาศัย
ค่านิยม PANK (Professional Aunt, No Kids) หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีรายได้และอาชีพการงานดีและไม่มีลูก” ซึ่งเน้นไปที่การดูแลหลานหรือเด็กในครอบครัวรอบตัว
และค่านิยม Waithood คือกลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยการมีความรักต่อไป เนื่องจากความไม่พร้อม / ไม่มั่นคงในสถานะทางเศรษฐกิจ จึงมองว่าการแต่งงานขณะที่ยังไม่พร้อมจะเป็นการลดโอกาสด้านอื่นๆ ที่อาจเข้ามา อีกทั้งยังจะเป็นภาระทางการเงินอีกด้วย
ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุมความต้องการ สภาพัฒน์ชี้ว่า อาจถอดบทเรียนจากต่างประเทศที่มีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาสในการมีคู่ได้ ตัวอย่างเช่น
- สิงคโปร์: ในปี 2561 มีการจัดทำโครงการลดคนโสด โดยจ่ายเงินให้คู่รักออกเดตอย่างน้อย 2,500 บาท เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในกิจกรรมออกเดตหรือบริการหาคู่
- จีน: ในปี 2566 รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลเจียงซีให้การสนับสนุนแอปพลิเคชันหาคู่ โดยใช้ฐานข้อมูลของคนโสดที่อาศัยอยู่ในเมืองมาพัฒนาจัดทำแพลตฟอร์มบริการหาคู่ที่เรียกว่า Palm Guixi
- ญี่ปุ่น: ในปี 2567 จัดทำแอปพลิเคชันหาคู่สำหรับคนโสดที่อายุมากกว่า 18 ปี และอยู่ในโตเกียว โดยใช้ระบบ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์หาคนที่มีความชอบใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังมีระบบการยืนยันตัวตนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน
เปิดข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
รายงานยังมี 4 ข้อเสนอหลักต่อภาครัฐ ได้แก่
- การสนับสนุนเครื่องมือ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการหรือพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
- การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน อาทิ คอร์สเรียนเพิ่มทักษะ Soft & Hard Skills นอกจากนี้ยังมีโอกาสพบรักในสถานศึกษาได้อีกด้วย
- การส่งเสริมการมี Work-Life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้คนโสดได้มีเวลาทำกิจกรรมอื่นและพบเจอคนที่มีความชอบลักษณะเดียวกัน
- การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนโสดได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
โสดหรือมีคู่กระทบฐานะมากกว่ากัน
แม้ว่าคนโสดหลายคนเลือกที่จะเป็นโสดเพราะคาดว่าภาระทางการเงินจากการมีคู่น่าจะ ‘สูงกว่า’ เป็นโสด อย่างไรก็ดี บทความของ World Economic Forum ระบุว่า คนโสดมีแนวโน้มที่จะมีฐานะทางเศรษฐกิจ ‘แย่กว่า’ คนที่มีคู่ครอง
โดยตามรายงานของ Pew Research Center จากการสำรวจในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า คนที่แต่งงานแล้วมีฐานะทางเศรษฐกิจ ‘ดีกว่า’ คนโสด โดยเฉพาะผู้ชาย
อย่างไรก็ดี คำอธิบายประการหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ชายที่มีรายได้สูงมักมีแนวโน้มที่จะได้แต่งงานมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการวิจัยยังพบด้วยว่า รายได้ของผู้ชายจะเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขาแต่งงาน ขณะที่ผู้หญิงก็อาจจะกำลังประสบกับสิ่งที่คล้ายกัน แต่อยู่ในสัดส่วนน้อยกว่าก็ตาม
สังคมคนโสดกระทบเศรษฐกิจอย่างไร
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางประชากรศาสตร์ (Demographic Challenges) อยู่แล้ว ท่ามกลางการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society)
โดย Ayhan Kose รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการ The Prospect Group ของธนาคารโลก (World Bank) เคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ข้อแนะนำเบื้องต้นเพื่อจัดการกับความท้าทายนี้คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงาน รวมไปถึงกำลังแรงงาน (Labour Force) ปัจจุบันให้เข้ากับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)
โดยจากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่า หลายเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีจำนวนประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ‘ร่วมขับเคลื่อน’ ตัวอย่างเช่น จีนและอินเดีย
ทำให้ก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติ (UN) เคยออกมาเตือนว่า อัตราการเติบโตของประชากรที่ชะลอตัวในประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอาจส่งผลต่อการบริโภค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์และปัจจัยดึงดูดการลงทุนสำคัญของเศรษฐกิจหลายประเทศด้วย
ดังนั้นการเข้าสู่สังคมคนโสดจึงอาจทำให้อัตราการเกิดของประชากรและกำลังแรงงานของไทยในระยะข้างหน้าเป็นปัญหาได้
อ้างอิง: