เรียนรู้ความหมายของการเป็นครูที่ดี ผ่านมุมมองเฌอปรางผู้รับบทครูโกะในซีรีส์ Thank You Teacher

“เฌอปราง อารีย์กุล” ผู้จัดการ กัปตัน และสมาชิกวงไอดอลหญิง BNK48 โชว์ความสามารถด้านการแสดงอีกขั้น กับซีรีส์เรื่องล่าสุด Thank You Teacher ที่ดัดแปลงจากซีรีส์เกาหลี Black dog (2019) ภายใต้ ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ (TRUE CJ Creations) ผู้ผลิตซีรีส์คุณภาพเรื่องดังจากฝั่งเกาหลีใต้

ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนอาชีพครูและการศึกษาไทย เหมาะสำหรับทุกครอบครัว สะท้อนทุกมุมมองทั้งตัวนักเรียน และคุณครู โดยเฌอปรางรับบทเป็น “โกะ” ครูภาษาไทย (อัตราจ้าง) ไฟแรงที่เข้ามาในโรงเรียน และพยายามเรียนรู้ว่าการจะเป็นครูที่ดีนั้นต้องทำอย่างไร

นับเป็นครั้งแรกที่ เฌอปราง ต้องมารับบทคุณครูสอนนักเรียน แถมยังท้าทายความสามารถตัวเองกับบทบาทที่มีความหลากหลายของช่วงอายุ และซีนดราม่าเรียกน้ำตาอีกด้วย

บางพาร์ทในซีรีส์ตัวเฌอเองก็มีเอเนอร์จี้เป็นครูโกะอยู่เหมือนกัน

เฌอปราง : Thank You Teacher เหรอคะ เป็นการเรียนรู้ว่าการทำซีรีส์ที่มีการพัฒนาของตัวละครนั้น มันถ่ายโดดไปโดดมาจังเลย (หัวเราะ) แต่อันนี้หนูต้องย้อนไปเล่น 15 ปมของน้อง แล้วก็กลับมาเป็นครูโกะที่แรกๆ จนครูโกะเก่งมากๆ ตอน 16 แต่ว่าวันถ่ายวันเดียวกัน บางทีโดดไปหลังบ้างหน้าบ้างนู้นนั่น หนูก็แบบ What is this หนูต้องทำยังไงนะ ยากอยู่เหมือนกันที่หนูจะต้องจูนว่าตอนนี้ฉันโกะอยู่นะ ตอนนี้ฉันเริ่มเก่งขึ้นแล้วนะ แต่ตอนนี้ฉันโคตรเก่งเลยนะ

เฌอรับบทเป็นครูโกะนะคะ เป็นครูใหม่ไฟแรงที่เข้ามาในโรงเรียน แล้วก็เรียนรู้ว่าการจะเป็นครูที่ดีนั้นต้องทำยังไง เป็นคำถามของตัวโกะเองว่าการเป็นครูที่ดีคือยังไง อะไรที่เหมาะกับเด็กที่สุดในการที่จะทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดอะไรอย่างนี้ค่ะ

จริงๆ ไม่ยากมากค่ะ เพราะว่ามันมีพาร์ทที่เฌอรู้สึกว่าเฌอเป็นเอเนอร์จี้ครูโกะอยู่ แต่ครูโกะไม่ได้เป็นเฌอ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมีบางพาร์ทที่เฌอก็ไม่เป็นครูโกะเหมือนกันในสิ่งที่เขาทำ แต่เอเนอร์จี้ความเป็นลูกเจี๊ยบ ความที่แบบพยักหน้ากับทุกเรื่อง ได้ค่ะๆ ลองลุยทำนู้นทำนี่ตลอดเวลาเลยของครูโกะ ก็มีพาร์ทของเฌอเหมือนกันที่เป็นประมาณนั้นอยู่

เฌอปราง อารีย์กุล
เฌอปราง อารีย์กุล

จะผสมๆ ก็มีตัวบทเข้ามา ผสมๆ เข้ามาบ้าง แล้วก็มีความชื่นชมคุณครูของตัวเองอยู่แล้ว เคยมีไอเดียเหมือนกันตั้งแต่เด็กๆ ว่าถ้าเกิดฉันสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานใดสายงานหนึ่งได้อะไรอย่างนี้ เราก็อยากจะถ่ายทอดให้คนนำข้อมูลที่เรามีไปต่อยอด หรือพัฒนาเขาต่อไปได้ เพราะรู้สึกว่าเราได้รับจากครูของเรามาเยอะในช่วงทุกวัย จะมีสักคนสองคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ไม่มากก็น้อย รวมถึงครูหลายๆ ท่านที่เป็นครูสอนหนังสือเรา เราก็จะ appreciate เขาจังเลย

เคยมีความตั้งใจที่แบบถ้าถึงวัยหนึ่งเกษียณแล้ว คงจะเป็นคนที่เกษียณแล้วไปสอนหนังสือเด็ก จริงๆ เฌอก็เคยเป็นครูสอนพิเศษน้องๆ ประถม น้องๆ มัธยมก็เคยสอน ไม่มากก็น้อย แบบสอนพิเศษตัวต่อตัวอะไรอย่างนี้ ช่วงนั้นทำงานเอง เริ่มทำงาน แล้วก็เป็น TA (Teacher Assistant) ผู้ช่วยแล็บของอาจารย์อีกตอนมหาลัย

ซีรีส์เรื่องนี้สอดแทรกข้อมูลการศึกษาไทยในหลากหลายรูปแบบ

เฌอปราง : แต่ว่าพอมาเล่นแล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่ามันหนักกว่าที่เราคิดค่ะ การเป็นครูมันเหนื่อยกว่าที่คิด แล้วยิ่งครูในรูปแบบที่โกะเขาเข้าไปเจอ เขาเข้าไปลองอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าระบบ ระบบโรงเรียนแบบระบบใหญ่ ที่เด็กหลายคนกับครูอัตราส่วนที่น้อยกว่ากันค่อนข้างเยอะ

มันเหนื่อยกว่าที่คิดการตรวจการบ้านร้อยกว่าคนอะไรอย่างนี้ หนูแบบโอ้ไม่ง่ายแฮะ ก็ไม่แปลกใจที่บางทีเขาอาจจะไม่ใช้เป็นรูปแบบการเขียนตลอด เพราะมันต้องมีเป็นช้อยส์บ้างอะไรแบบนี้ เพราะว่ามันเยอะจริงๆ สำหรับครูที่เขาต้องนั่งตรวจ ก็เลยโอเคเราพอจะเห็นภาพข้อจำกัดบางอย่างที่มันมีอยู่ และอะไรบางอย่างที่น่าจะปรับเปลี่ยนได้บ้าง

เฌอปราง และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
เฌอปราง และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

เรื่องนี้ได้ใส่สิ่งที่เป็นข้อมูลของระบบการศึกษาในหลากหลายรูปแบบให้เห็นด้วยว่ามันมีการเป็น Project-Based Learning นะ มี Child Center นะ มีเป็นทางเลือก เป็น General education ในเรื่องหลากหลายสาย แล้วก็ในโรงเรียนมีรูปแบบไหนได้บ้างที่จะสนับสนุนเด็กให้เป็นไปตามที่เขาไปได้ ทางเลือกของเขามีอะไรบ้าง

ตัวครูโกะตอนสุดท้ายเนี่ยเขามีทางเลือกอะไรที่เขาสามารถทำได้บ้าง จริงๆ ยังมีโรงเรียนอีกหลากหลายแบบที่อาจจะเหมาะสมกับเด็กที่แตกต่างกันไปอีกด้วยเหมือนกัน

สิ่งที่ชาเลนจ์เฌอปราง เล่นได้หลากหลายช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนโต

เฌอปราง : เฌอกลับไปเป็นเด็ก 15 ได้ค่ะ (หัวเราะ) ในวัยนี้ เป็นความภูมิใจมากเลยที่กลับไป โอ้เนียนอยู่นะเนี่ยเรา ก็อยากให้คนเห็นว่าเฌอกลับไปเล่นบทแบบตอนเด็กก็ได้ ตอนโตขึ้นมาก็ยังเล่นได้ พัฒนาตัวละครก็เล่นได้นะ ตั้งแต่ไม่เก่งจนเก่ง แล้วก็มีความโก๊ะๆ เป็นความสดใสร่าเริงอยู่อะไรอย่างนี้ ใช่

ซึ่งชาเลนจ์กับเฌอมาก ยาก เฌอทำได้ไงเหรอคะ พยายามจำค่ะว่าช่วงไหนเป็นยังไง แต่โชคดีที่ในกองเขาก็จะมีการช่วยบอกว่าอันนี้ทรงผมเป็นตัวช่วยบอกอันหนึ่ง แล้วก็มีเลเวล เขาจะเรียกเลเวล 0 เลเวล 1 เลเวล 2 เลเวล 3 มีเลเวล โกะจะมี 3 เลเวล ในชีสที่เขาเขียนว่าวันนี้จะถ่ายเวลไหนบ้าง

หนูก็จะดูก่อนอ๋อตอนนี้เวล 3 คาแรคเตอร์มันประมาณนี้นะ มันโตแล้ว เวล 2 มันกลางๆ มันยังไม่เก่งมาก แต่มันก็ดีขึ้นแล้ว มันสอนได้แล้ว เวล 0 ก็คือแบบโอ้ทำอะไรไม่เป็นเลย เวล 1 ก็แบบยังตื่นเต้น สั่นๆ แต่พยายามจะทำ ก็จะมีคำอธิบายกรอบที่ทางผู้กำกับ พี่ยู (ยู ษรัณยู) คอยช่วยบอกไว้ หรือพี่ๆ เขาคอยช่วยในเรื่องคอสตูม ในเรื่องทรงผม ที่จะบอกความเป็นโกะในแต่ละเลเวลอยู่แล้วค่ะ

เบลออยู่บ้างค่ะ แต่ก็จะถามเขาว่าเหตุการณ์ก่อนหน้าคืออะไรนะ แล้วหลังจากนี้ฉันจะต้องไปทำอะไรนะ ผ่านเหตุการณ์สำคัญอะไรมาแล้วบ้างนะ ที่ทำให้โกะเขาโตขึ้น เพราะจริงๆ พอมันเจอเรื่องแล้วค่อยถึงโต เขาได้เรียนรู้ เขาถึงโตขึ้น เขาเรียกว่ามีรีแอคชั่น มีปฏิกิริยาต่อเรื่องอื่นๆ หรือเรื่องที่เขาต้องเจออันต่อไป แบบโตขึ้นแล้วอะไรอย่างนี้

ก็จะต้อง remind ด้วยว่าจุดมาร์คสำคัญของแต่ละตอนว่าอ๋ออีพีนี้เขาเจอเรื่องนี้ อีพีนี้เขาเจอเรื่องนี้ ตอนนี้เรากำลังถ่ายอีพีตรงกลางระหว่างตรงนี้นะ เราเอาแค่นี้ก่อนนะ อันนี้ค่อยว่ากันอะไรอย่างนี้ ใช่ค่ะ

เฌออยากให้เห็นถึงความหลากหลายของระบบการเรียน

เฌอปราง : ตัวละครเยอะมากกว่าที่ทุกคนคิดนะคะ แล้วก็มีทั้งพาร์ทของการเป็นของน้องๆ เด็กๆ แล้วก็พาร์ทของผู้ใหญ่ที่เป็นคุณครู โกะมันคือตรงกลาง ที่คอยประสานเด็กยังไงบ้าง ผู้ใหญ่เขาต้องยังไงบ้าง เป็นคนตรงกลางที่อยากให้ทั้ง 2 ฝั่งไปด้วยกันได้ แล้วผลลัพธ์ออกมาที่พอดีที่สุดอะไรอย่างนี้ ใช่

แต่ก็จะเจอผู้ใหญ่แบบใจร้ายก็มี ผู้ใหญ่ที่ใจดีก็มี เด็กที่ดื้อก็มี เด็กที่แบบแปลกแยกก็มี เด็กที่โอเคก็มี มันมีความหลากหลาย ซึ่งมันเหมือนกับสังคมที่เราเจอกันจริงๆ แล้วก็อาจจะสะท้อนให้ทุกคนรู้สึกว่าอันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เราก็เจอเหมือนกัน มันไม่ใช่แค่เราเจอคนเดียว เป็นกำลังใจให้ได้ ว่ามันมีคนที่เจอเรื่องประมาณนี้ใกล้ๆ กับเราก็มี

เฌอปราง กับบทบาทครูโกะ
เฌอปรางกับบทบาทครูโกะ

ตัวเฌออยากให้เห็นความหลากหลายค่ะ ตัวเฌออยากให้รู้สึกว่าตัวเราได้เรียนรู้มาในรูปแบบที่ค่อนข้างโชคดี ที่เจอความหลากหลายของการเรียน ตั้งแต่ระบบแบบนั่งเรียนในห้อง แล้วครูเปลี่ยนเวียนเข้ามา ระบบต่อมาเป็นระบบ Project-Based Learning ก็คือเรียนเป็นหัวข้อๆ แล้วทำทุกเรื่องเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ทำให้เรียนรู้การทำงานที่ค่อนข้างหลากหลายมากขึ้น

แล้วก็มาเป็นมหาลัย ก็จะเป็นระบบที่เลือกเรียนว่าเราจะเรียนอะไร เราจะมีอะไรบ้าง แต่ก็มี General education ที่ทำให้เราได้เรียนที่มันนอกเหนือจากสายที่เราสนใจด้วย มันก็เลยต่อยอดกันไปได้ ค่อนข้างเยอะ ในเรื่องนี้รู้สึกว่าเขาพยายามให้เห็นว่ามันมีทางเลือกนะ มันไม่ได้ทางตันน่ะ ทุกอย่างมันมีทางออก มันยังมีเวย์ให้เราไปได้

ถ้าเราจะไป ขอไปให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด แล้วก็มั่นใจจริงๆ ว่าเราจะไปได้ เราจะทำสิ่งนี้จนเราใช้ชีวิตกับมันต่อไปได้เรื่อยๆ จริงๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ เป็นกำลังใจแล้วกัน เป็นซีรีส์อบอุ่น น่ารัก มีความหวานแหวว มีพาร์ทกุ๋งกิ๋งมุ้งมิ้ง มีพาร์ทซีเรียส มีพาร์ทนู้นนี่นั่นเต็มไปหมดเลย

ร้องไห้เยอะมากกับซีรีส์เรื่องนี้ และเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี

เฌอปราง : ครบทุกรสค่ะ ครบทุกรส ร้องไห้เยอะมากค่ะ เฌอร้องไห้เยอะมาก ใช่ หนัก ยากมาก ซีนตอนเด็กคือด้วยความต้องกลับไปเด็ก 15-16 แล้วเขาเจอเหตุการณ์ใหญ่คือรถคว่ำแล้วครูเสียชีวิต โอ้โหเด็ก 16 ตอนนั้นที่เจอแล้วมันเป็นปมในใจของตัวโกะมาโดยตลอด ทำให้เขาไม่มั่นใจ ทำให้รู้สึกว่าเขาต้องเป็นการตอบแทนครูเขามากกว่า มันก็มีพาร์ทที่เขาจะก้าวข้ามตรงนั้นได้หรือเปล่าว่าเขาอยากเป็นครู เพราะตัวเขาเอง หรือเพราะแค่รู้สึกผิด

จริงๆ ก็เป็นซีนดราม่าทั้งหลายแหละค่ะ เพราะว่าเฌอไม่ค่อยเป็นคนเซนซิทีฟกับการร้องไห้ขนาดนั้น ถ้ามันไปแล้วมันไปถึง มันก็ไปได้ แต่จะใช้เวลานิดนึง ยังไม่ได้เร็วมาก แล้วก็จะรู้สึกว่าเราค่อนข้างเครียดกับซีนเหล่านี้ ดีใจที่ผ่านมา เราทำค่อนข้างโอเคได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี แล้วคนก็เอ็นดู รู้สึกตามไปกับตัวละครได้ หนูก็ดีใจมากๆ ค่ะ

เพราะเราก็กลัวว่าเราจะ express ในพาร์ทเศร้าๆ ของโกะได้ไม่เต็มที่อะไรอย่างนี้ เพราะยังเป็นมือใหม่ รู้สึกว่าตัวเองเจอละครเรื่องไหน หรือเจอซีรีส์ หรือหนังเรื่องไหน ยังคงรู้สึกว่าใหม่อยู่ตลอดเวลา ยังไม่ได้มั่นใจในพาร์ทการแสดงตัวเองขนาดนั้น ใช่ แค่มันไม่ใช่สายที่เฌอตั้งใจตั้งแรก ยังไม่ได้ขนาดนั้น ก็พยายามอยู่ค่ะ รู้สึกว่าเรายังมีสกิลที่เรียนรู้ได้อีกเยอะเลย

เฌอปราง อารีย์กุล
เฌอปราง อารีย์กุล

ดูซีรีส์เรื่องนี้แล้วจะเข้าใจมุมมองระหว่างเด็กและคุณครูมากขึ้น

เฌอปราง : จริงๆ ธีมหลักคืออยากให้ทุกคนมาตามหาคำว่าครูที่ดีคืออะไร จริงๆ เลยนะ ครูที่ดีคืออะไรนะ เพราะคำถามหลักของเรื่องไม่ใช่ธีมหลักขนาดนั้น แต่คำถามหลักของเรื่องที่ครูโกะกำลังพาทุกคนไปเรียนรู้ตามตัวละครตามเรื่องทั้งหมดอะไรอย่างนี้ เขาก็ได้เจอความหลากหลายชาเลนจ์ว่าแล้วครูที่ดีของเขาคืออะไร

แต่ละคนมีคำตอบที่แตกต่างกันค่ะ เฌอรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์มากกว่า คือครูที่ดีของเราที่สุดอะไรอย่างนี้ แต่การที่มีครูแบบครูโกะ ที่เป็นครูที่ใส่ใจน้องๆ แต่ละคนจริงๆ ช่วยให้ทั้งตัวเด็กแฮปปี้กับสิ่งที่เขากำลังทำ กับเขาได้เจอในพาร์ทที่เขาอยากจะไปได้จริงๆ มีคนส่งเสริมเขาได้ไม่มากก็น้อยจริงๆ ค่ะ

(ถาม – เหมือนซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์ที่เหมาะสำหรับครอบครัวด้วยนะ) ใช่ พ่อแม่ก็ได้สะท้อน ให้ได้เห็นว่าจริงๆ เด็กก็มีความเครียดในแบบของเขา แล้วก็มีความแบบอยากช่วย อยากทำให้ดีอยู่ตลอด ไม่ได้แบบตั้งใจจะเกเร ตั้งใจจะนู้นจะนี่หรอกบางอย่าง ก็แค่แบบโอเคเขาอาจจะดื้อด้วยหรือเป็นวัยเขา

เราต้องเข้าใจเขานิดนึง เราต้องให้พื้นที่เขาหน่อยอะไรอย่างนี้ แต่ก็คอยประคับประคองอยู่ข้างๆ ซะมากกว่า รวมถึงให้เด็กๆ เข้าใจคุณครูด้วย ถ้าเด็กๆ ดู งานครูเขาก็ใช่ย่อยนะ เราก็ต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเหมือนกัน หนูก็มีความรู้สึกว่าฉันอยากกลับไปเป็นเด็กใหม่ เพื่อที่จะเป็นเด็กที่น่ารักกับครูเรากว่านี้สักนิดนึงก็จะดีนะ

เพราะรู้สึกว่าครูเหนื่อยมากเลยที่ต้องคอยตอบคำถามเฌอ ตอนเด็กเฌอเป็นคนที่ไปถามไปหาครูบ่อยมาก หนูชอบแบบ ทำไมอะครู ทำไมมันต้องอย่างนี้อะ แล้วอันนี้ต้องทำยังไงต่ออะ แล้วครูก็จะแบบเออน่ะ ครูก็เหนื่อยกับการสอน ทำอย่างอื่นมาแล้ว เราค่อนข้างเป็นคนไปทำให้เวลาในชีวิตของครูเขาน้อยลงเหมือนกันนะ ใช่

ฝากซีรีส์ Thank You Teacher นะคะ ออนแอร์ทาง TrueID นะคะ ตอนนี้ปล่อยพาร์ทที่ 2 มาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครรอดูอยู่ ที่ว่ายังไม่ได้ดูพาร์ทแรก เพราะพาร์ท 2 ยังไม่มา ตอนนี้นะคะ ตอนที่ 1-16 คุณดูได้รวดเดียวทีเดียวที่ TrueID ได้แล้วนะคะ ฝากด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ที่มา FEED