ถ้ามองดูสถานการณ์ในปัจจุบัน โลกเราได้เผชิญกับวิกฤตมานับไม่ถ้วน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด พิษเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เทคโนโลยีล้ำหน้าและอันตราย และถ้ายังต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ต่อไป โลกจะเหลือเวลาอีกกี่ปีก่อนจะดับสิ้นไป ? World Economic Forum จึงได้จัดทำรายงาน Global Risks Report 2024 รวมความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเจอ เพื่อให้เราได้เตรียมตัวรับมือ
The Global Risks Report คืออะไร ?
ข้อมูลในรายงาน The Global Risks Report 2024 มาจาก Global Risks Perception Survey (GRPS) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านความเสี่ยงของ World Economic Forum
โดยข้อมูลของ GRPS ประจำปีนี้ มาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงทั่วโลกจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,490 ราย ทั้งจากสถาบันการศึกษา ธุรกิจ รัฐบาล ชุมชนระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในช่วงระหว่างวันที่ 4 กันยายน – 9 ตุลาคม 2566 โดยความเสี่ยงจะถูกแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้
- ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic) – สีฟ้า
- ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) – สีเขียว
- ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) – สีส้ม
- ความเสี่ยงด้านสังคม (Societal) – สีแดง
- ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological) – สีม่วง
‘Global Risks’ หรือ ‘ความเสี่ยงระดับโลก’ หมายถึง ความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์หรือสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าความเสี่ยงนั้น ๆ เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสัดส่วน GDP โลก ประชากร หรือทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
โลกจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ?
รายงาน Global Risks Report 2024 ได้สรุปความเสี่ยงและปัญหาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโลกทั้งในปี 2024 และคาดการณ์อนาคตใน 2 ปีข้างหน้าและอีก 10 ปีข้างหน้า มาดูกันว่าความเสี่ยงที่เจออยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลต่อระยะยาวอย่างไรบ้าง
ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโลกในปี 2024
สำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2024 ผู้ตอบแบบสำรวจจำเป็นต้องเลือก 5 อันดับ ที่พวกเขาคิดว่าน่าจะก่อให้เกิดปัญหาทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งความเสี่ยงที่ถูกเลือกว่าเสี่ยงสูงสุดในปี 2024 ก็คือ สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme weather)
เนื่องจากปี 2023 มีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาในซีกโลกเหนือ บวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลกระทบยาวมาถึงปีนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจจึงมองว่าอาจก่อนให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้วขึ้นได้ เช่น คลื่นความร้อนที่รุนแรง ฝนขาด ไฟป่า และน้ำท่วม โดยผลการสำรวจทั้งหมด มีดังนี้
- สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว (Extreme weather )
- ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนจาก AI (AI-generated misinformation and disinformation)
- การแบ่งขั้วทางสังคมหรือการเมือง (Societal and/or political polarization)
- วิกฤตค่าครองชีพ (Cost-of-living crisis)
- การโจมตีทางไซเบอร์ (Cyberattacks)
ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโลกในปี 2026
จากการให้ผู้ตอบแบบสำรวจประเมินความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุด 5 อันดับแรก ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 ปี หรือภายในปี 2026 พบว่า มีความเสี่ยงเอนเอียงไปทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุด ได้แก่
- ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูล หรือ Misinformation and disinformation
- สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว หรือ Extreme weather
- การแบ่งขั้วทางสังคม หรือ Societal polarization
- ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber insecurity
- ความขัดกันทางอาวุธระหว่างรัฐ หรือ Interstate armed conflict
ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโลกในปี 2034
ด้านความเสี่ยงในปี 2034 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า ชี้ชัดว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มองปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมติดอันดับความเสี่ยงมากถึง 4 อันดับจาก 5 อันดับแรก ซึ่งเป็น*ผลการสำรวจที่ใกล้เคียงกับปี 2023 มาก ได้แก่
- เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว หรือ Extreme weather events
- การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลก หรือ Critical change to Earth systems
- สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศล่มสลาย หรือ Biodiversity loss and ecosystem collapse
- ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ หรือ Natural resource shortages
- ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูล หรือ Misinformation and disinformation
5 อันดับภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
รายงานจาก World Economic Forum’s 2023 Executive Opinion Survey (EOS) ซึ่งเป็นแบบสำรวจที่ความคิดเห็นของผู้บริหาร จัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายน – สิงหาคม 2023 ในหัวข้อ “ความเสี่ยง 5 ประการที่คุณคิดว่าจะเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อประเทศของคุณในอีกสองปีข้างหน้า”
ผู้บริหารในไทยลงความเห็นว่าภัยคุกคาม 5 ประการนี้ สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยได้มากที่สุด ดังนี้
อันดับที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic downturn)
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว และมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตช้าลง ธุรกิจมีโอกาสกู้ยืมน้อยลง ธนาคารปล่อยเงินกู้ยากขึ้น หากเศรษฐกิจไม่เติบโตหรือหดตัวเป็นเวลานานมาก (เกิน 3 ปี) ก็จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติคือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Economic Depression)
อันดับที่ 2 ปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ ดิน (Pollution)
ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษ โดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงในไทย ถึงขั้นที่ภาครัฐต้องประกาศให้คนอยู่บ้าน Work From Home และหยุดเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดม PM2.5 ในเมืองต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
อันดับที่ 3 การขาดแคลนแรงงาน (Labour shortage)
การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง เมื่อแรงงานไม่เพียงพอ ธุรกิจอาจต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ทัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง
อันดับที่ 4 หนี้ครัวเรือน (Household debt)
ไตรมาสแรกของปี 2024 หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ซึ่งอาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
อันดับที่ 5 ความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่งและรายได้ (Inequality)
รายงานกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) เผยว่า ในปี 2019 ประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อัตราความไม่เท่าเทียมกันของรายได้อยู่ที่ 43.3% ซึ่งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงสุด สาเหตุหลักมาจากมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างเมืองกับชนบท ไทยจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาทักษะแรงงาน การศึกษา เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
อ้างอิง: The Global Risks Report 2024
ที่มา Techsauce