โดย คุณปรีชา ธนสุกาญจน์ สำนักทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์
เครือซีพีดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ค้าปลีก การสื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ การเงินการธนาคาร ยาและเวชภัณฑ์ ฯลฯ โดยมีพนักงานปฏิบัติงานอยู่ในกว่า 20 ประเทศ ทำให้เครือซีพีมีความหลากหลายของพนักงานทั้งทางด้านอายุ เพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา และอื่น ๆ
โจทย์ใหญ่ ก็คือ จะทำอย่างไรให้ความหลากหลายนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค และสร้างคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและตัวพนักงานเอง
ภาพรวมเกี่ยวกับความหลากหลายของชาวซีพี
ด้วยเหตุที่เครือซีพีดำเนินธุรกิจมาเกือบ 100 ปี และทำธุรกิจอยู่ในทั่วโลก เครือซีพีจึงมีพนักงานที่มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศสภาพ ความรู้ความเชี่ยวชาญ เชื้อชาติ ศาสนา ทำงานอยู่ร่วมกัน
จากข้อมูล ณ ปลายปี 2562 เครือซีพีมีพนักงานทั่วโลกประมาณ 3.4 แสนคน โดยมีอัตราส่วนของพนักงานหญิงและชายใกล้เคียงกัน และมีพนักงานช่วงวัยต่างๆ ทำงานร่วมกัน ซึ่งพบว่า พนักงานร้อยละ 76 เป็น Gen Y
ข้อมูลนี้สะท้อนว่า เครือซีพีเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคนที่มีความหลากหลายในมิติต่าง ๆ การอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างและการทำให้ความหลากหลายนี้สามารถต่อยอดเป็นพลัง จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
หนทางของการสร้างคุณค่าจากความหลากหลายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค
เครือซีพีเชื่อว่า ความหลากหลายสามารถสร้างนวัตกรรมและโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ทั้งองค์กรและพนักงาน เครือซีพีจึงได้ดำเนินการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยให้ทุกคนในเครือฯ ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานได้มีส่วนร่วมผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้
1. การกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติต่อทุกคนอย่าง เสมอภาคกัน
การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคกันเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้คนที่มีความแตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ เครือซีพีจึงได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลด้านต่าง ๆ เช่น นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด แนวปฏิบัติที่ดีด้านความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น เพื่อนำมาเป็นกรอบในการปฏิบัติกับพนักงานทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน
2. การให้คุณค่ากับความหลากหลาย เครือซีพีได้ให้คุณค่ากับความหลากหลายผ่านการทำงานและโครงการสำคัญๆ โดยมีตัวอย่างดังนี้
• โครงการพัฒนาผู้นำของเครือฯ
โครงการพัฒนาผู้นำของเครือฯ เปิดโอกาสให้พนักงานคนรุ่นใหม่ ได้กล้าคิด กล้านำเสนอ และกล้าลงมือทำในเรื่องใหม่ๆ ได้รับอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งนี่เป็นการสะท้อนที่ชัดเจนในเรื่องให้คุณค่ากับความคิดใหม่ๆ ที่อาจแตกต่างของคนรุ่นใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ “ชี้แนะไม่ชี้นำ” จนนำสู่การปฏิบัติ สามารถทำให้ธุรกิจของเครือได้พัฒนาแนวทางใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น การต่อยอดการขายของธุรกิจค้าปลีกด้วยการส่งถึงบ้าน ส่งถึงที่ทำงาน การหาโอกาสที่มีศักยภาพใหม่ๆ ด้วยการเน้นการขาย B2B ของซีพีเฟรชมาร์ท เป็นต้น ส่งผลทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เกิดเป็นองค์ความรู้ที่จะขยายผลให้เกิดความสำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป
• โครงการการผนึกกำลังร่วมโครงการข้ามธุรกิจ/สายงาน
เครือฯ มีโครงการที่ผนึกกำลังพนักงานที่มีความหลากหลายทั้งด้านธุรกิจและวิชาชีพมาร่วมกันนำกลยุทธ์ของเครือฯ มาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จในหลายรูปแบบ อาทิ โครงการ Strategic Project and Leadership Development (SPLD) ระดับเครือ โครงการเถ้าแก่ซีรีส์ต่างๆ โครงการลักษณะเดียวกันในระดับกลุ่มธุรกิจ เป็นต้น ซึ่ง ณ ไตรมาส 2 ของปี 2563 มีผู้นำเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ถึง 17,000 คน คิดเป็น 57% ของกลุ่มเป้าหมาย 30,000 คน
การทำงานลักษณะนี้ยังเป็นการสนับสนุนโครงสร้างการทำงานวิถีใหม่ของเครือ ซึ่งเรียกว่า Modular หรือ Agile Organization อีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงศักยภาพของตน และนำความหลากหลายปสู่การพัฒนา
3. การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันจากนโยบายและแนวปฏิบัติที่เครือซีพีกำหนดขึ้น ได้มีการนำเป็นหลักในกระบวนการบริหารงานบุคคล เช่น ไม่เลือกปฏิบัติในการรับคนเข้าทำงาน การประเมินผลงาน การจ่ายค่าตอบแทน เป็นต้น หากพนักงานประสบหรือพบเหตุการณ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติ คุกคาม ล่วงละเมิด ใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม สามารถแจ้งได้ที่หัวหน้าโดยตรง หรือหัวหน้าของหัวหน้าตามความเหมาะสม หรือที่หน่วยงานทรัพยากรบุคคล หรือที่ช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ของบริษัท
จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างหรือความหลากหลายนี้สามารถนำไปสู่การพัฒนา สร้างคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและพนักงาน สิ่งที่จะต้องปลดล๊อก คือ ต้องรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์และเปิดใจรับ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกวัน