เมื่อความรู้สึกรัก เป็นแค่เคมีในสมอง
คุณรักเขา เพราะคุณรักเขา
หรือคุณรักเขา เพราะเคมีในสมองบอกให้คุณรัก
เมื่อเราพูดถึงความรักในแง่ของวิทยาศาสตร์และเคมีในสมอง เราอาจจะพอแบ่ง “ความรัก” ออกได้เป็น 3 ประเภท
Lust – ความรักแบบความใคร่ อยากร่วมเพศ
Attraction – ความรักแบบหลงใหล รู้สึกดึงดูด
Attachment – ความรักแบบรู้สึกผูกพัน
ความรักแบบ Lust (ความใคร่) และ Attraction (ความรู้สึกดึงดูด) นั้น จะเป็นความรักแบบโรแมนติก ซึ่งสามารถเกิดร่วมกันทั้งสองอย่างหรือแยกกันก็ได้
ส่วนความรักแบบ Attachment (ความผูกพัน) นอกจากจะเป็นความรักของคู่รักได้แล้ว ก็ยังเป็นความรักของคนในครอบครัว และเพื่อนฝูงได้อีกด้วย
Lust คือความใคร่ ความอยากมีเพศสัมพันธ์ครับ เป็นวิวัฒนาการจากความต้องการสืบพันธ์ของสิ่งมีชีวิต มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ Attraction กล่าวคือเมื่อรู้สึกชอบใครสักคน ก็อยากจะมีเซ็กส์กับเขาด้วย
ความต้องการนี้ ถูกบงการโดยฮอร์โมนเพศ Testosterone (เทสโทสเตอโรน) และ Estrogen (เอสโตรเจน) ซึ่งผลิตที่อัณฑะและรังไข่ แต่ถูกกระตุ้นโดยสมองส่วน Hypothalamus (ไฮโปทาลามัส) ครับ
ผลการศึกษาพบว่า Testosterone เป็นฮอร์โมนหลักที่กระตุ้นความต้องการทางเพศทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
ส่วน Estrogen จะมีผลในเพศหญิงมากกว่า โดยพบว่าในช่วงไข่ตก เพศหญิงจะมีฮอร์โมน Estrogen พุ่งสูง ทำให้บางคนมีความต้องการทางเพศเพิ่มสูงขึ้น
ส่วน Attraction เป็นความรักแบบรู้สึกหลงใหล ดึงดูด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับ Lust ก็ได้ หรืออาจจะเกิดเดี่ยว ๆ แค่ชอบอย่างเดียว ไม่ได้อยากมีเซ็กส์ด้วย
ความรู้สึกนี้ถูกบงการโดย Dopamine (โดปามีน) ซึ่งถูกกระตุ้นและผลิตโดยสมองส่วน Hypothalamus ครับ
เมื่อสมองหลั่ง Dopamine ออกมา เราจะรู้ฟิน มีความสุขจนท้องไส้ปั่นป่วน บางครั้งถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับก็มี
ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดความรู้สึกนี้ ฮอร์โมน Serotonin (เซโรโทนิน) ซึ่งควบคุมความอยากอาหารและอารมณ์ก็จะลดลง ทำให้บางคนรู้สึกไม่อยากกินข้าวกินปลา ระส่ำระส่าย ย้ำคิดย้ำทำ และอาจน้ำหนักลดได้
สุดท้ายคือ Attachment เป็นความรักแบบความผูกพัน ซึ่งอาจเกิดกับคู่รัก หรือกับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนสนิทรอบตัวก็ได้ครับ
ฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับใครสักคน คือ Oxytocin และ Vasopressin ครับ ซึ่งถูกกระตุ้นและผลิตที่สมองส่วน Hypothalamus เช่นเดียวกัน
ผลการศึกษาพบว่า ที่แม่รู้สึกผูกพันกับลูกมาก เป็นเพราะในขณะที่คลอดหรือให้นม แม่จะผลิต Oxytocin ออกมาเป็นจำนวนมากตามกลไกของธรรมชาติ
หรือในขณะมีเพศสัมพันธ์และถึงจุดสุดยอด เราจะรู้สึกผูกพันธ์กับอีกฝ่ายมากขึ้น เพราะมีการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ออกมาเป็นจำนวนมากครับ
ทั้งนี้ Lust และ Attraction อาจกดการทำงานของ Prefrontal cortex (สมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า) ซึ่งควบคุมการให้เหตุผลได้ ทำให้ในช่วงที่มีความต้องการทางเพศพลุ่งพล่าน หรือตกหลุมรักใครสักคนอย่างสุดหัวใจ เราอาจจะทำอะไรลงไปโดยไม่มีเหตุผล
และในช่วง Attraction หากสมองหลั่ง Dopamine มากไป เราอาจจะเริ่มติดกับความรักงอมแงม คล้าย ๆ กับคนติดยา ทำให้เรากลายเป็นคนติดแฟน ขาดแฟนไม่ได้ ว้าวุ่นใจหากเขาหายเงียบไป และหากต้องเลิกกัน ก็จะลงแดงเหมือนคนขาดยาได้ครับ
ฟังดูไม่โรแมนติกเท่าไร เมื่อพูดว่าความรู้สึกรักถูกควบคุมโดยสารเคมีในสมอง และถ้าสารเคมีนั้นผิดเพี้ยนไป ก็อาจจะทำให้ความรู้สึกรักต่างไปจากเดิมด้วย
แต่ถ้าตัดเรื่องสารเคมีออกไป ความรักก็ยังคงมีเรื่องประสบการณ์ ความทรงจำ และสีสันของการเป็นมนุษย์ให้เราได้ชื่นชมอีกเยอะเลย ว่าไหมครับ?
ที่มา : The Columnist : https://www.blockdit.com/