มุมมองต่อคู่ค้า…เติบโตไปด้วยกันอย่างมีธรรมาภิบาล


การดำเนินธุรกิจบนโลกยุค 4.0 ที่ยืนหยัดอยู่บนวิถีแห่งความยั่งยืนนั้น “ธรรมาภิบาล” หรือเราจะเรียกชื่อว่า “บรรษัทภิบาล” คือ แกนสำคัญที่จะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ CG Voices Vol.3 ได้รับเกียรติจาก “คุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล” กรรมการผู้จัดการ(ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักของกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับคู่ค้า และหลักการธรรมาภิบาลของซีพี ออลล์ ไว้อย่างน่าสนใจ ติดตามได้จากบทสนทนานี้

CG Voices : ซีพี ออลล์ มีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาลอย่างไรบ้าง

คุณยุทธศักดิ์ : บรรษัทภิบาล หรือ ธรรมาภิบาล ก็คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซีพี ออลล์ เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ บรรษัทภิบาลสามารถสร้างพื้นฐานความยั่งยืนขององค์กรให้สามารถเติบโตช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขัน ทำให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว เราปลูกฝังให้ผู้บริหารและ พนักงานของบริษัทฯ ยึดหลักบรรษัทภิบาล ได้แก่ ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพื่อยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างยั่งยืน

CG Voices : ทัศนคติ หรือ มุมมองที่ซีพี ออลล์มีต่อคู่ค้า

คุณยุทธศักดิ์ : สำหรับซีพีออลล์แล้ว คู่ค้า ถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นหนึ่งห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญมากของบริษัทที่มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานของคู่ค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงแนวทางความยั่งยืนทั้งด้านการกำกับดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้ามาในกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน

CG Voices : คู่ค้าของซีพีออลล์ มีมากน้อยแค่ไหน และบริหารแตกต่างกันอย่างไร

คุณยุทธศักดิ์ : ปัจจุบัน ซีพี  ออลล์  มีคู่ค้ามากกว่า 2,000 ราย  แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ  คู่ค้าเชิงกลยุทธ์   คู่ค้าขนาดกลาง  คู่ค้ารายย่อย  ซึ่งเรามีแนวทางการบริหารงานเพื่อความยั่งยืนสำหรับคู่ค้า เริ่มตั้งแต่กระบวนสรรหาและคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ  รวมทั้งพิจารณาความสามารถในการผลิตคุณภาพความปลอดภัยของสินค้า ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าในกระบวนการจัดหาและการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ  และเรายังให้ความสำคัญกับสร้างความผูกพัน และ รักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้าตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นคู่ค้าขนาดใหญ่ เรามีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น การร่วมมือรณรงค์กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การงดใช้ถุงพลาสติก การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้  หรือการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้มีประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น  เช่น การเน้นการพัฒนาสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice) ลด หวาน มัน เค็ม โดยร่วมมือกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง  และยังรวมไปถึงการส่งต่อองค์ความรู้จากคู่ค้าขนาดใหญ่ ที่มี know how ไปยังคู่ค้าขนาดเล็ก โดยผ่านทีมงานของซีพีออลล์

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร  รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เราได้วางแผนพัฒนาคู่ค้า ทั้งด้านทักษะการทำงาน  ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง เพื่อเพิ่มยอดขายกลุ่มสินค้า SMEs สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ให้เติบโตไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มจำนวนเป็น 250,000  ราย ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2030)

CG Voices : ซีพีออลล์ ส่งเสริมคู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอี และเกษตรกรรายย่อย อย่างไรบ้าง

คุณยุทธศักดิ์ : เรามีเจตนารมณ์และมุ่งมั่นในการ ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน”  เพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกันระหว่าง บริษัท ชุมชน และสังคม  โดยมุ่งเน้นเรื่องการสร้างคุณค่าให้แก่สังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย   (MSMEs)  ครอบคลุมถึงวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในระบบห่วงโซ่คุณค่า (Ecosystem and Value Chain) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานราก

ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรอยู่ในห่วงโซ่อุปทานกว่า 30,000 ราย ซึ่งเราได้ช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้  สนับสนุนการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และช่องทางออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร  สร้างตลาดที่แน่นอน  อีกทั้งยังสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพของ SME และเกษตรกรตลอดระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ การพัฒนาทักษะการบริหาร  การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการบนที่ดินทำกิน และผลผลิต

บริษัทเห็นโอกาสในการส่งเสริมให้ลูกค้าได้เข้าถึงสินค้าเกษตรได้สะดวกมากขึ้น  โดยส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวมาออกแบบการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และประสบความสําเร็จเป็นอย่างมากจากโมเดลกล้วยหอมทอง 

ต่อมาจึงได้ขยายผลไปสู่คู่ค้ากลุ่มสินค้าผักสด  ผลไม้สดตามฤดูกาล  ผักสลัด  ผลไม้ตัดแต่ง  และผักพร้อมปรุง  โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผลักดันให้โรงงานผลิตได้ตามมาตรฐานการผลิตที่ดี(GMP)มีการนํานวัตกรรมด้านการเกษตรอุตสาหกรรมจากเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนมาพัฒนา และประยุกต์ใช้ในการปลูก การผลิตหรือ แปรรูป รวมทั้งร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแนวชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

บริษัทยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายให้กับสินค้าของคู่ค้า ในกลุ่มผักสด  ผลไม้สดตามฤดูกาล  ผักสลัด  ผลไม้ตัดแต่ง  และผักพร้อมปรุงที่วางขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศประมาณ 100  รายการ   ภายใต้โครงการ 7-11 เคียงข้างเกษตรกรไทย

นี่คือ…มุมมองของซีพี ออลล์ที่มีต่อคู่ค้าบนหลักการธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ที่มา : วารสาร CG Voice Issue 03