พูดถึง Corporate Governance สำหรับคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ค่อยอินกันสักเท่าไหร่ แต่วันนื้ เรามี 2 อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นผู้จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานรุ่นใหม่ มาร่วมแชร์มุมมองในเรื่อง Corporate Governance ซึ่งลองไปฟังกันดูว่า ในมุมมองของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เขามองว่าองค์ประกอบใดบ้างที่จะนำไปสู่การเป็นองค์กรในฝัน
คุณชญาณ์ทัต วงศ์มณี นักเขียน เจ้าของเพจ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” พิธีกรพอดแคสต์รายการ “I HATE MY JOB” (พอดแคสต์สารพันปัญหาดราม่าในที่ทำงาน ชวนคุณผู้ฟังร่วมกันหาทางออกให้ทำงานอย่างไม่เกลียดวันจันทร์ เพื่อเปลี่ยนเป็น LOVE MY JOB ในที่สุด) และมีหน้าที่การงานในตำแหน่ง VP Content Management ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองว่า Corporate Governance ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็น องค์กรในฝัน
คุณชญาณ์ทัต บอกว่า สิ่งที่เซอร์ไพรส์มากของมุมมองในการทำงานยุคนี้คือ คนรุ่นใหม่มีนิยามเรื่องความมั่นคงที่แตกต่างไปจากเดิม คนยุคก่อนอาจมองว่าความมั่นคงคือ รายได้ บริษัทฉันไม่ล้ม ไม่มีการเลย์ออฟแน่นอน
แต่ปัจจุบัน ความมั่นคงในความหมายของเด็กรุ่นใหม่คือ ความหมายของการทำงาน “เรามาทำงานทุกวัน ทำเพื่ออะไร สิ่งที่ผมเคยถามน้องๆ ว่ามองหาอะไรในองค์กร คำตอบคือ มองหาองค์กรที่ขับเคลื่อนให้โลกเปลี่ยนไป”
ถ้าเรากลับมามององค์กรใหญ่ๆ ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่า องค์กรจะไม่ได้พูดเรื่องผลกำไร แต่องค์กรจะพูดเรื่อง Purpose จุดประสงค์ขององค์กรว่า องค์กรนี้ช่วยขับเคลื่อนอะไรเพื่อโลกได้บ้าง “นี่ล่ะคือองค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากจะตื่นไปทำงาน ได้ใช้ความสามารถสร้างคุณค่าให้แก่โลกนี้จริงๆ”
ดังนั้น องค์กรยุคใหม่คือ องค์กรที่พูดถึงความยั่งยืนจะเป็นองค์กรที่ดึงดูดให้คน หรือพนักงานตอบคำถามได้ว่า เราจะตื่นมาทำงานเพื่ออะไร
ในมุมของคุณชญาณ์ทัต เขามองว่าหลักๆ องค์กรและผู้นำต้องมี 3 อย่าง “พูดให้ฟัง ทำให้เห็น เป็นให้ดู”
พูดให้ฟัง คือ ทุกครั้งที่พูดออกมาแล้ว พนักงานอยากฟัง สื่อสารอย่างเข้าใจว่า พนักงานมีอะไรอยู่ในหัวใจเขาอยู่ มองเห็นจุดเล็กๆ น้อยๆ ของพนักงานว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่สำคัญพูดแล้วเข้าไปอยู่ในหัวใจของพนักงานได้
ทำให้เห็น แปลว่าทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่แค่ยืนหัวโต๊ะและสั่งการ แต่ทุกอย่างต้องเกิดจากการกระทำ
เป็นให้ดู คือกระทำอย่างจริงจัง ดังนั้นต่อให้คติของบริษัทจะเป็นอย่างไร แต่หากผู้นำไม่ดำเนินการทำเลย แล้วจะมีใครทำตาม
ในด้านความหลากหลาย เขาได้ตัวอย่างการทำงานปัจจุบันของตนเอง “ผมอยู่ในสายงานเอเจนซี วันหนึ่งได้รับการทาบทามให้มาทำตำแหน่ง Content Management ที่ธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย อายุกว่าร้อยปี ภาพแรกคือ ที่นี่เป็นธนาคารที่มีอายุมาช้านาน สอง ผมไม่มีประสบการณ์ด้านการเงินใดๆ เลย ผมก็สงสัยมากว่าที่นี่มองเห็นอะไรในตัวเรา หัวหน้าบอกว่า อยากได้คนนอกวงการบ้างเพื่อเข้ามาเติมเต็มด้านการสื่อสารผมเป็นเหมือนตัวแทนของลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในสายการเงิน ถ้าเราสื่อสารให้คนอย่างผมเข้าใจได้ ก็สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้”
ทุกวันนี้หากมาดูการทำงานจะพบว่า พนักงานธนาคารลุกขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์ได้ เป็นช่างภาพ เป็น ครีเอทีฟรายการได้ เขาได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ทำในอุตสาหกรรมการเงิน
“ผมรู้สึกว่าตนเองได้อยู่ในช่วงเวลาที่ดีมาก และเป็นองค์กรที่ดีมากที่เปิดกว้างให้มีความหลากหลายของคนที่แตกต่างเข้ามาเติมเต็มกันให้งานสมบูรณ์”
สิ่งสำคัญที่ คุณชญาณ์ทัต อยากเห็นในองค์กรยุคใหม่ในด้านของ Corporate Governance ก็คือ “การฟังพนักงาน” ทุกวันนี้ปลายปีเราฟังแต่รีเสิร์ช ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า การรีเสิร์ชนั้นเป็นข้อมูลที่จริงแค่ไหน
“มีเคสที่น่าสนใจมาก จาก CEO สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ จากเดิมที่ล้มละลาย ไม่มีใครอยากจะมาบริหาร วันหนึ่ง ดร.คาซุโอะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้ง Kyocera ที่เกษียณแล้ว แต่มีความตั้งใจจะมาพลิกฟื้นกิจการ สิ่งที่เขาพบคือ พนักงานรู้ว่าบริษัทมีปัญหา แต่ทุกคนรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้น ท่านจึงใช้เวลาส่วนใหญ่คุยกับพนักงาน ตั้งแต่บรรดาซีเนียร์จนถึงพนักงานตัวเล็ก เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดว่าพนักงานคิดอย่างไร และการฟังนี้เอง ทำให้องค์กรพลิกฟื้นได้”
คุณชญาณ์ทัต เชื่อว่า พนักงานมีเรื่องมากมายอยากจะบอกองค์กร ถ้าผู้นำฟังก็จะได้ข้อมูลอีกมากมาปรับปรุงธุรกิจของตนเอง เมื่อมนุษย์คุยกับมนุษย์จะเกิดความเข้าใจ และทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีคนกำลังฟังเขาอยู่ เขามีคุณค่า และมีความหมายต่อองค์กร
ด้านคุณฝ้าย หรือ ศศิวิมล เสียงแจ้ว ซีอีโอและสตาร์ทอัพผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Daywork โมบายล์แอปพลิเคชันสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการหางานพาร์ตไทม์ ซึ่งได้มาแบ่งปันประสบการณ์ของพนักงานพาร์ทไทม์ เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการดูแลพนักงานพาร์ตไทม์ เธอบอกว่า หลายองค์กรดูแลเด็กฝึกงานด้วยมาตรฐานเดียวกันกับการดูแลพนักงานประจำ แต่บางองค์กรดูแลแตกต่างกัน
“เคยมีน้องๆ นักศึกษาเล่าให้ฟัง เขาจะประทับใจ “Wongnai” เพราะที่นี่นอกเหนือจากสิ่งที่ควรจะได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมีเบเนฟิตที่กุ๊กกิ๊ก น่ารัก เช่น เลี้ยงอาหาร เลี้ยงขนม ฯลฯ เป็นอะไรที่เกินกว่าความคาดหวังว่าจะได้ น้องๆ จึงประทับใจมาก อย่างทรู เรามีส่งน้องไปทำงานในส่วนของออฟฟิศ ก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดี คือมีมาตรฐานการปฏิบัติต่อพนักงานพาร์ตไทม์ไม่ต่างจากพนักงานทั่วไป”
คุณฝ้าย ยังได้พูดถึงการเลือกสถานที่ทำงานที่นักศึกษาอยากไปสมัครทำงานพาร์ตไทม์ เธอบอกว่า
หนึ่งเขาจะดูว่าสถานที่ทำงานใกล้บ้านไหม เนื้องานเป็นอย่างไร และด้วยความที่ยังเด็ก ดังนั้นเขาจะเน้นเรื่องประสบการณ์ น่าสนใจไหม ท้าทายหรือไม่ และสามคือ ค่าตอบแทน
เมื่อถามถึงในเรื่อง Corporate Governance ที่คุณรุ่นใหม่มอง คุณฝ้ายบอกว่า อันดับแรกคือ ความโปร่งใส (Transparency) ทั้งในเชิงสิ่งที่เขาต้องทำ ต้องรับผิดชอบ รวมถึงสิ่งที่เขาจะได้รับจากองค์กร ต้องชัดเจน โอกาสการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รวมถึงประโยชน์ใดๆ ที่จะได้รับ
“เป็นเรื่องที่น้องๆ อยากรู้ ที่ฝ้ายเคยเจอคือ ถ้าได้รับแจ้งอย่างหนึ่ง แต่พอไปถึงหน้างานแล้วไม่เป็นไปตามนั้น หรือต้องทำงานอื่นๆ เพิ่ม แบบนี้น้องๆ จะไม่โอเคละ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของเด็กรุ่นนี้ด้วย”
ในฐานะที่คุณฝ้ายคลกคลีกับเด็กๆ ที่ทำงานพาร์ตไทม์ ดังนั้น สิ่งที่เธออยากเห็นการปฏิบัติต่อพนักงานพาร์ตไทม์ อันดับแรกคือ ความโปร่งใส (Transparency) ถัดมาคือ ความเสมอภาค (Equity) การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แม้วันนี้พนักงานพาร์ตไทม์จะเป็นเหมือนคนนอกองค์กร แต่จริงๆ แล้วทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กร สามารถเป็นกระบอกเสียง เป็นผู้ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้องค์กรด้วย รวมถึงความยุติธรรม (Fairness) เรื่องผลประโยชน์และค่าตอบแทนต่างๆ ต้องมีความเป็นธรรม สมเหตุสมผล เช่น ถ้าทำงานกะกลางคืน ก็ควรได้ค่าตอบแทนมากขึ้น เป็นต้น
ที่มา : วารสารบัวบาน Vol. 6 เดือนมีนาคม 2564