เศรษฐกิจไทยที่เคยคาดหวังกันว่าจะเริ่มทะยอยฟื้นตัวกลับมาได้ในปีนี้ กลับต้องมาบอบช้ำอีกครั้ง หลังโดนโควิดระลอกใหญ่ซัดกระหน่ำ สะ ท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งเป็นหลักหมื่นราย และไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ประกอบกับการกลายพันธุ์ของโควิดทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เป็นผลให้รัฐบาลตัดสินใจล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การยกระดับมาตรการการควบคุมดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้สะดุดหยุดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้บรรดาหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน พร้อมใจกันเรียงหน้าหั่นจีดีพีลงกันเป็นทิวแถว
เริ่มจาก SCB EIC ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ลงจากเดิม 1.9% มาที่ 0.9% หลังการระบาดของโควิดในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมา ยังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
โดยการระบาดในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ และมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดทำให้ EIC คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพ.ย. ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย/วัน หรือใช้เวลากว่า 8 เดือนนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเม.ย.โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือราว 4.8% ของจีดีพี
ส่วนแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังเป็นการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยปีนี้จะเติบโต 15% แต่ต้องจับตาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหา supply disruption ที่เกิดจากการปิดโรงงานจากการระบาดทั้งในไทยและประเทศอื่น
สอดรับกับมุมมองของ “ศูนย์วิจัยกรุงศรี” ที่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกรอบ โดยล่าสุดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก และไม่รู้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
ที่มา : https://www.tnnthailand.com