ม.หอการค้าไทย มั่นใจการส่งออกไทยปี’66 โตเพียง 1.0% ชี้ยังมีโอกาสเสี่ยงติดลบ 0.5% ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยต่ำสุดในรอบ 3 ปี
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง “ส่งออกไทยปี 2566 โตแค่ไหนในยุคเศรษฐกิจโลกถดถอย” ว่า
การส่งออกไทยในปี 2566 นี้คาดว่าโต 1% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 295,203 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี หรือการส่งออกทั้งปีจะอยู่ในกรอบติดลบ 0.5-1.5% มีมูลค่าอยู่ที่ 290,819-296,665 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ พร้อมกันนี้การส่งออกในไตรมาส 1 ของปียังมีแรงเฉื่อยและชะลอตัวอยู่ จากคำสั่งซื้อที่ยังไม่มา มีโอกาสส่งออกติดลบ หดตัว 2-3%
โดยมี 7 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการส่งออกไทยในปีนี้ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว 2.ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทั้งปี 3.ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่สูง ประเมินว่า 80-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 4.อัตราเงินเฟ้อปี 2566 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2565 แต่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ 5.ราคาวัตถุดิบและสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง 6.ธนาคารกลางสหรัฐยังมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 7.การแยกห่วงโซ่อุปทาน (DECOUPLING) อุตสาหกรรมจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ
ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น 1.การยกเลิกนโยบาย ZERO COVID ของจีน เหมือนเหรียญ 2 ด้าน คนจีนเดินทางได้ เศรษฐกิจดี ถ้าจัดการปัญหาโควิดควบคุมได้ แต่หากมีการระบาดคุมไม่ได้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน หดตัวได้
2.ค่าเงินบาทยังคงอ่อนกว่าปี 2565 แต่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 3.มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมของต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปี 2566 โดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าอย่างยุโรป มาตรการ CBAM 4.เทรนด์ผู้บริโภคปี 2023 : “3ส” (สุขภาพ+สิ่งแวดล้อม+สังคม)
ทั้งนี้ เมื่อดูตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทุกตลาดขยายตัวลดลง เช่น ตลาดส่งออกในสหรัฐขยายตัว 0.6% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 14.5% มีมูลค่า 48,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 0.3% ลดลงจาก 0.8% มูลค่า 25,269 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัว 0.1% ลดลงจาก 7.7% มูลค่า 27,092 เหรียญสหรัฐ และตลาดอาเซียนขยายตัว 1.2% ลดลงจาก 13.1% มีมูลค่า 65,150 เหรียญสหรัฐ เมื่อดูโดยรวมโดยเฉลี่ยตลาดส่งออกสำคัญของไทยลดลง 0.5-1.5%
นายอัทธ์กล่าวอีกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ในสภาวะชะลอตัว คาดว่าจีดีพีโลกจะชะลอตัว 2.7% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 3.2% ส่วน OECD คาดจีดีพีโต 2.2% ลดลงจาก 3.1% ในปี 2565 โดยเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบเศรษฐกิจโลกติดลบ 1% อีกทั้ง กระทบส่งออกไทยติดลบ 1.7% โดยไทยมีการส่งออกไปรัสเซียและยูเครนคิดเป็น 0.43% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด และทั้งนี้ ในปี 2566 หากสงครามยังยืดเยื้อจะทำให้จีดีพีโลกทั้งปี หายไป หรือติดลบ 0.4%-1% มูลค่าส่งออกติดลบ 0.4%-ติดลบ 1%
“ไทยยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่ทั้งโลกยังคงสับสนกับจำนวนตัวเลขของคนติดโควิดในประเทศ เพราะรัฐบาลจีนไม่ได้มีการรายงานตัวเลขดังกล่าวแล้ว แต่ยังพบว่าจีนยังประสบปัญหาขาดแคลนเตียง แพทย์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ”
อย่างไรก็ดี ดังนั้น หากจีนยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากรัฐบาลจีนสามารถบริหารจัดการได้ดี ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกสามารถไปต่อได้ เพราะนอกจากผลทางการค้าแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในประเทศอาเซียน รองลงมาจาก นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ