‘คลัง’ มองทิศทางจีดีพีปี’64 หลังโตสูงกว่าที่คาด ชี้หนี้ครัวเรือนยังเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้

พรชัย ฐีระเวช

‘คลัง’ มองทิศทางจีดีพีปี’64 โตสูงกว่าที่คาดไว้ เพราะไตรมาส 4/64 ขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภาคเอกชน ด้านหนี้ครัวเรือนยังเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้เสียยังทรงตัวไม่สูงมาก

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีสภาพัฒน์แถลงสรุปตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2564 ขยายตัวที่ 1.6% ว่า เป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่ภาคการบริโภคของภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นจากที่มองว่าจะไม่ขยายตัวได้มาก ขณะเดียวกัน การเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐก็ดีขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ ฉะนั้น ไตรมาสที่ 4 จึงเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมิน โดยขยายตัวได้ถึง 1.9% ทำให้ทั้งปี 2564 สามารถขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว

“ในส่วนนี้คงสะท้อนให้เห็นถึงการรับมือโควิด-19 ได้อย่างชัดเจน หลังจากรัฐบาลมีแผนในการป้องกันและรักษา รวมถึงการใช้เงินกู้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลภาคส่วนต่างๆ และได้ส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดการณ์ โดยสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ก็ได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.2% และธนาคารแห่งประเทศไทวก็คาดขยายตัวได้ 1% กว่าๆ เท่านั้น” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวถึงกรณีสภาพัฒน์มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและจะมาหารือกับ สศค.ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานจากสภาพัฒน์เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องของจีดีพีที่ขยายตัวได้ไม่มาก ซึ่งจะเป็นตัวหารที่ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนๆ ด้วย

นายพรชัยกล่าวว่า ณ ไตรมาส 3 ของปี 2564 ระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ของจีดีพี ซึ่งขยายตัวเพียงเล็กน้อยหรือ 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ฉะนั้น จะเห็นว่า อัตราขยายตัวของหนี้ครัวเรือนนั้น ไม่ได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากไส้ในของหนี้ครัวเรือนจะพบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีความต่างจากหนี้ครัวเรือนจากประเทศอื่น โดยการระดมทุนของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่นำมาเพื่อการประกอบอาชีพและก่อให้เกิดรายได้ค่อนข้างมาก หรือมากกว่า 65% ของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

“ถามว่าหนี้ครัวเรือนน่าเป็นห่วงไหม โดยหลักการคือใครที่มีหนี้ก็น่าเป็นห่วงทั้งนั้น เพียงแต่ถ้าไปดูไส้ในก็เป็นหนี้ที่ใช้มาเพื่อก่อให้เกิดรายได้ แต่ส่วนหนี้เพื่อการบริโภคก็ไม่มากเท่าไหร่ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เขามีรายได้เพื่อชำระหนี้ คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สภาพัฒน์เป็นห่วงมากกว่า” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหนี้ครัวเรือนที่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง โดยนำไปซื้อสินทรัพย์และประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ กรณีนำไปซื้อสินทรัพย์มีสัดส่วน 34.5% นำไปซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งเราประเมินว่าการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 12.4% นำไปประกอบอาชีพ 20% ฉะนั้น คิดรวมๆ แล้วหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นนำไปประกอบอาชีพมากกว่า 65%

“เมื่อพิจารณาถึงความมั่นคงของสถาบันการเงิน จะพบว่าหนี้เสียยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยอยู่ที่ 2.8-2.9% เท่านั้น” นายพรชัยกล่าว

ที่มา มติชน