เวิลด์แบงก์-IFC เปิดรายงาน CPSD แนะแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจไทยหนุนเติบโตยั่งยืน

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (World Bank) เปิดตัวรายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนของประเทศไทย : พลิกฟื้นผลิตภาพด้วยเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยืดหยุ่นและมันคง (CPSD) ซึ่งร่วมจัดทำโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) และธนาคารโลกว่า หากมองถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการที่ดี และมีการเติบโตที่ก้าวกระโดดโดยมีการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แต่หลังโควิด-19 เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจสะท้อนว่าโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิมที่ใช้อยู่เริ่มทำงานได้ไม่ดีมากเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว

“เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ไม่ต่างจากเศรษฐกิจของประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่เราเชื่อว่าในสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นนี้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนมากขึ้นของประเทศเช่นกัน ซึ่งในรายงานนี้เราได้มองถึงปัญหาและคำแนะนำในปรับเปลี่ยนโมเดลให้ตอบรับกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้วย”

นายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า จากรายงานดังกล่าวมองว่าปัจจัยที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Technology) มาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาคเอกชนในการสร้างตลาดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ เพื่อทำให้ต้นทุน-ราคาสินค้าต่ำลง และเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับประเทศเศรษฐกิจแนวหน้าของเอเชียเดียวกัน เช่น จีน ฮ่องกงแล้ว ไทยยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตามหลังอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการเดินทาง (Mobility Tech) เทคโนโลยีความบันเทิง (Entertainment Tech) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data and Analytics) ซึ่งในเบื้องต้นประเมินโอกาสที่กระแสเงินลงทุนจะไหลเข้ามาในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีบางธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ และฟินเทคมีการเติบโตอย่างมากในไทย และเป็นธุรกิจที่สามารถเทคโนโลยีมาต่อยอดการเติบโตได้

อีกปัจจัยเป็นการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ใหม่ให้ภาคเอกชนได้ราว 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569 โดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสพัฒนาสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและการเกษตร และการก่อสร้าง โดยเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถสร้างมูลค่าการลงทุน การประหยัดต้นทุน และรายได้ให้ไทยได้มากถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโอกาสในขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ของไทย ยังมีข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของภาคเอกชน ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำด้านการแข่งขันทางการค้าที่อยู่ในระดับสูง โดยผลสำรวจพบว่าในไทยมีธุรกิจที่ผูกขาดตลาดอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (FDI) ซึ่งไทยใช้เกณฑ์เดิมมากว่า 20 ปี ขณะที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่เคยล้าหลังกว่ามีการปรับปรุงผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวจนล้ำหน้าไทยแล้ว ส่งผลให้ความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติลดลง รวมถึงไทยยังปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มเอสเอ็มอีที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ค่อนข้างน้อย

“ประเทศไทยต้องส่งเสริมรูปแบบการเติบโตที่ใช้นวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อสร้างผลิตภาพที่ดีขึ้น และบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวจะต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้นำในด้านการลงทุน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ขณะเดียวกัน อีกประเด็นที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ของไทยมีทักษะอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลาง และไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ดังนั้น จึงต้องมีเร่งพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาด รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยที่จะต้องนำพานวัตกรรมใหม่เข้ามาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”

ที่มา ผู้จัดการ