เกษตรกรขานรับ ‘ประกันรายได้’ ราคาดี-มีมาตรการคู่ขนาน

ในการเสวนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา)” ซึ่งจัดโดย เครือมติชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงทิศทางราคาพืชเกษตรหลังจากการดำเนินมาตรการประกันรายได้ 3 ปี สะท้อนว่ามาตรการนี้มีจุดเด่นที่ “การไม่แทรกแซงกลไกตลาด” ทั้งยังมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า โครงการดังกล่าวได้ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วเกือบ 8 ล้านครอบครัว แบ่งเป็นข้าว 4.689 ล้านครอบครัว, ยางพารา 1.88 ล้านครอบครัว , มันสำปะหลัง 0.524 ล้านครอบครัว, ปาล์ม 0.380 ล้านครอบครัว และข้าวโพด 0.452 ล้านครอบครัว กระตุ้นเศรษฐกิจ 4.5-5.0 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปี

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้ว่า โครงการประกันรายได้มีระบบการโอนเงินส่วนต่างโดยตรงให้กับเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการประกันรายได้ไม่มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ หากเทียบราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิดปัจจุบัน (15 ก.พ. 2565) กับราคาประกันรายได้ พบว่าปัจจุบันราคามันสำปะหลัง กก.ละ 2.50-2.60 บาท สูงเท่ากับราคาประกัน กก.ละ 2.50 บาท ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 กก.ละ 60.55 บาท จากราคาประกัน 60 บาท

ราคาน้ำยางสด กก.ละ 65 บาท จากราคาประกัน 57 บาท และราคายางก้อนถ้วย กก.ละ 25.65 บาทจากปัจจุบัน กก.ละ 23 บาท ราคาปาล์มน้ำมัน กก.ละ 8.10-9.00 บาท

จากราคาประกัน กก.ละ 4 บาท ราคาข้าวโพด กก.ละ 10 บาท จากราคาประกันที่ 8.50 บาท มีเพียงราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เฉลี่ยตันละ 8,000-8,500 บาท ต่ำกว่าราคาประกันตันละ 10,000 บาท

อย่างที่ทราบกันดี ประกันรายได้จะไม่ไปแทรกแซงตลาด ดังนั้นนอกจากการประกันรายได้แล้ว รัฐยังมี “มาตรการคู่ขนาน” เพื่อดึงซัพพลายส่วนเกิน เช่น การส่งเสริมให้ชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉาง

เพื่อลดปริมาณข้าวออกสู่ตลาดที่จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง จะเห็นได้ว่าในปี 2564 ชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉางมากขึ้นถึง 2 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้โรงสีเร่งรับซื้อข้าวมากขึ้น โดยช่วยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง ซื้อและเก็บวัตถุดิบไว้ในระยะ 6 เดือน พร้อมกับจัดหาเครื่องสับหัวมันให้กับเกษตรกร โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะติดตั้งให้เพิ่ม 650 เครื่อง เพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายมันสับได้ราคาสูง

ขณะที่มาตรการคู่ขนานฯประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน เช่น การผลักดันการส่งออกโดยกำหนดเงื่อนไขว่า จะส่งออกได้ก็ต่อเมื่อมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเกิน 3 แสนตัน และราคาในประเทศสูงกว่าในตลาดโลก

อีกด้านหนึ่งก็วางมาตรการป้องกันการนำผ่านมาตกหล่นในประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาของไทย โดยการกำกับดูแลการนำผ่านน้ำมันปาล์ม 3 จุด สามารถนำเข้าได้ คือ กรุงเทพฯ แหลมฉบัง มาบตาพุด การนำผ่านเข้าได้ คือ กรุงเทพฯ ออกได้ 3 จุด เช่น เมียนมา ออกได้ที่แม่สอด กัมพูชาออกได้ที่สระแก้ว สปป.ลาวออกได้ที่ด่านหนองคาย

นอกจากนี้ยังมีการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดำเนินการไปตามเหตุและผลให้เกิดความเป็นธรรม อีกทั้งมีมาตรการที่ดูแลพืชทางการเกษตรทุกตัว โดยมีตัวแทน 3 ฝ่ายที่มาจากตัวแทนภาครัฐ เกษตรกร และเอกชนด้วย

ตลาดนำการผลิต

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรยังมีรายได้จากผลกระทบด้านการส่งออกข้าวในปีที่ผ่านมาที่ปรับลดลงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และต้นทุนค่าระวางเรือ

โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ชาวนาทั่วประเทศพอใจ เพราะเมื่อชาวนาขายข้าวได้น้อยก็ยังมีโครงการประกันรายได้ชดเชยส่วนต่างให้ อย่างไรก็ตาม ชาวนายังต้องการให้รัฐดูแลเรื่องต้นทุนการเพาะปลูก

โดยเฉพาะเรื่องราคาปุ๋ย น้ำมัน ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันต้นทุนปลูกข้าวเฉลี่ย 4,500- 5,000 บาทต่อไร่ ถือว่า “สูงมาก” หากลดต้นทุนต่อไร่ลงได้จะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันปีนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับ “โซนนิ่ง” ปลูกข้าว โดยกำหนดให้ภาคกลางปลูกข้าวพื้นนุ่ม พันธุ์ กข 79 กข 87 ภาคกลางตอนล่าง ตั้งแต่ จ.อุตรดิตถ์ ปลูกข้าวขาวพื้นแข็ง

ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการทดลองนำร่องปลูกข้าวขาวพื้นนุ่ม 18,000 ไร่ เป็นเวลา 1 ปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถกำหนดราคาเองได้ ซึ่งในอนาคตจะผลักดันตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”

ปาล์มทะลัก 1 ล้านตัน

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2559 เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มประสบปัญหาขาดทุน ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่สามารถตั้งราคาผลผลิตได้ แต่ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์ม

โดยการสนับสนุนให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อเตรียมการไว้ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดทำให้ราคาปาล์มขยับตัวสูงขึ้น โดยขึ้นไปสูงสุด กก.ละ 12 บาท และเพิ่งจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ กก.ละ 8-9 บาท แต่ก็ยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนด กก.ละ 4 บาท

“โครงการประกันรายได้เป็นโครงการที่ดี ที่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร 4 แสนครัวเรือน แต่ไม่รู้ว่าโครงการนี้พรรคอื่นนำไปใช้ได้ไหม และถือว่าเป็นนโยบายที่โปร่งใส ในปีนี้คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากผลผลิตถั่วเหลืองและทานตะวันที่ให้ผลผลิตน้ำมันลดลง

แต่ล่าสุดอินโดนีเซียลดการส่งออก ส่วนมาเลเซียใช้นโยบายผลักดันการเก็บภาษีส่งออกเพื่อนำมาชดเชยให้กับเกษตรกรซึ่งแตกต่างจากมาตรการของไทย สิ่งสำคัญต้องการให้ภาครัฐเข้ามาบริหารจัดการเรื่องต้นทุนเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงได้ในอนาคต”

สำหรับแนวโน้มปาล์มน้ำมันคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จะมีผลผลิตปาล์มทะลายออกมาสู่ตลาดจำนวนมากถึง 1 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ประมาณ 1.8 แสนตัน แต่ด้วยนโยบายการดูแลสต๊อกน้ำมันปาล์มจนถึงเดือน ก.พ.มีสต๊อก 1.3 แสนตัน

ทั้งยังลดการใช้ไบโอดีเซลจากบี 7 เหลือบี 5 ทั้งยังมีนโยบายการผลักดันการส่งออกมีส่วนสำคัญในการช่วย จึงคาดว่าสถานการณ์สต๊อกจะไม่สูงเกินไป

“ชาวสวนเข้าใจถึงความกังวลของผู้บริโภคที่มองว่าทิศทางราคาน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้น เชื่อว่าหลังผลผลิตออกสู่ตลาดราคาจะอ่อนตัวลง และขอให้เห็นใจชาวสวนที่ขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งแม้ว่าต้นทุนราคาน้ำมันปาล์มขยับขึ้นแต่ผู้บริโภคใช้น้ำมันส่วนใหญ่เฉลี่ยเดือนละ 2 ขวด เทียบเท่ากับการซื้อกาแฟ 2 แก้วเท่านั้น”

ข้าวโพด-มันสำปะหลังขาขึ้น

ขณะที่ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ไทยผลิตข้าวโพดได้ 4.8 ล้านตันแต่มีความต้องการใช้ 8-9 ล้านตัน ดังนั้นยังจำเป็นต้องมีการนำเข้า

ตลาดยังมีความต้องการอีกสูง ขณะเดียวกันไทยต้องพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวโพด เพราะเมื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์จะทำให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี

และที่สำคัญในอนาคตไทยต้อง “สร้างกลไกการบริหารจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุดิบขาดหรือเกิน” จากเดิมที่ไทยกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบไม่ให้กระทบราคาพืชเกษตร

เช่นเดียวกับการกำหนดระยะเวลาการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เป็นช่วงเวลา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบในประเทศ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม เพื่อไม่ให้กระทบราคาวัตถุดิบในประเทศ

ซึ่งไทยควรพิจารณามาตรการที่ไม่ขัดหลัก WTO เช่น การพิจารณาเก็บภาษีเป็นช่วง ๆ ตามระยะเวลาการนำเข้า เช่น กันยายน-ธันวาคม ควรเก็บ 2% หรือ 5% หรือไม่

ส่วนพืชมันสำปะหลังปีนี้ไทยผลิตได้เพียง 28 ล้านตัน ลดลงจากปกติที่ผลิตได้ 33 ล้านตัน จากปัญหาน้ำท่วม แต่ไทยมีความต้องการอยู่ที่ 40 ล้านตัน อีกทั้งสถานการณ์โควิดทำให้ความต้องการใช้ผลิตแอลกอฮอล์มากขึ้น

จากเดิมที่มีความต้องการในอุตสาหกรรมแป้งมัน 25-26 ล้านตัน และมันเส้นอีก 3 ล้านตัน ทำให้แนวโน้มราคามันสำปะหลังสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องมีการพัฒนาสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งยกระดับการผลิต โดยใช้หลัก green economy โมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เพื่อพัฒนาวัตถุดิบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นเทรนด์ของตลาดส่งออก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการประกันรายได้

ที่มา ประชาชาติ