“จุรินทร์” เผยส่งออก มี.ค. 65 โต 19.5% มีมูลค่า 28,859 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 30 ปี ผลจากสินค้า 3 กลุ่ม ขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งออกติดลบ แต่การส่งออกไปยังประเทศอื่นขยายตัวเป็นเท่าตัว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2565 ขยายตัว 19.5% มีมูลค่า 28,859 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการส่งออกตั้งแต่ปี 2534 ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 18.0% มีมูลค่า 27,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 1,459 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจาก สินค้าสำคัญ 3 หมวดประกอบด้วย 1.สินค้าการเกษตร 2.สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และ 3.สินค้าอุตสาหกรรม มีการเติบโต
โดย 1.การส่งออกหมวดสินค้าเกษตร ขยายตัว 3.3% มีมูลค่า 2,168 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่เติบโต เช่น ข้าว ขยายตัว 53.9% ไก่แปรรูป ขยายตัว 6.6% มันสำปะหลัง ขยายตัว 6.3% 2.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัว 27.7% มีมูลค่า 2,163 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่เติบโต เช่น น้ำมันพืช ขยายตัว 350% โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ขยายตัว 768.3% น้ำตาลทราย ขยายตัว 204.3% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 15.5% เครื่องปรุงรส ขยายตัว 9.7% อาหารทะเลกระป๋องและอาหารทะเลแปรรูป ขยายตัว 2%
3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 20.6% มีมูลค่า 23,634 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่เติบโต เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัว 71.9% โทรสาร โทรศัพท์ ขยายตัว 37.9% อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 37.1% คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัว 36.9% และสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน ขยายตัว 15.5% แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 11% เครื่องมือแพทย์ ขยายตัว 10.6%
สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรกประกอบด้วย 1.สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 2,864.7% 2.เอเชียใต้ ขยายตัว 36.4% 3.อาเซียน ขยายตัว 34.8% 4.ตะวันออกกลาง ขยายตัว 29.5% 5.สหรัฐฯ ขยายตัว 21.5% 6.สหราชอาณาจักร ขยายตัว 14.5% 7.เกาหลีใต้ ขยายตัว 14.5% 8.ไต้หวัน ขยายตัว 9.4% 9.แคนาดา ขยายตัว 9.2% 10.สหภาพยุโรป ขยายตัว 6.9%
ส่งผลให้การส่งออกของไทยไตรมาสแรกของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัว 14.9% มีมูลค่า 73,601 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ การนำเข้า ขยายตัว 18.4% มีมูลค่า 74,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 944 ล้านเหรียญสหรัฐ
การจัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวก โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งมีการเจรจากับด่านต่างๆในการส่งออกทางบก ล่าสุด ด่านส่งออกผลไม้ไทยไปจีนที่ประกอบด้วย 4 ด่านหลัก คือ ด่านโม่ฮาน ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านผิงเสียงและด่านตงซิง ที่ด่านตงซิงได้ปิดมาระยะหนึ่ง วันนี้ได้มีการเปิดด่านตงซิงแล้ว จะเป็นปัจจัยช่วยให้การส่งผลไม้ไทยไปจีนทางบกคล่องตัวขึ้น
นอกจากนั้น การส่งออกทางเรือ การขาดแคลนตู้เริ่มคลี่คลาย และตนมอบหมายให้ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตร และกระทรวงการต่างประเทศประสานกับทางการจีน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือตอนใต้ของจีนอย่างน้อย 3 ท่า คล่องตัวขึ้นทำให้ตัวเลขการส่งออกทางเรือเพิ่มขึ้น
และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยเจรจากับการท่าอากาศยาน สายการบินและผู้ส่งออก เจรจาเรื่องค่าขนส่งและการจองสายการบินซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงที่ผลไม้เริ่มออกต้นปีที่ผ่านมา จากนี้จะเดินหน้าอย่างเข้มข้นและมีแผนที่ชัดเจนต่อไป การผลักดันการค้าชายแดนซึ่งได้เร่งรัดการเปิดด่านมาโดยตลอด
ล่าสุดจะยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทยเมียนมาเกิดขึ้นต่อไป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต(Purchasing Managers Index หรือ PMI)ยังอยู่ในระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยเฉพาะดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ออสเตรเลีย อาเซียน ยังอยู่ในระดับ 50 โอกาสที่จะซื้อสินค้าจากประเทศไทยมีมากขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้งอัตราค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรป เริ่มลดลงในขณะที่บางเส้นทางไม่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่ง ค่าเงินบาทอ่อนค่า มีส่วนช่วยทำให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้การส่งออกของไทยทั้งปีนี้ขยายตัว ได้ตามเป้าหมาย 4-5% ส่วนปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น ส่งออกไปรัสเซีย ติดลบบ 73% ยูเครน ส่งออกติดลบ 66.3% จะกระทบต่อการส่งออกโดยตรงของ 2 ประเทศ แต่ภาพการส่งออกโดยรวมยังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ