ต้นไม้มีค่า 58 ชนิด ใช้เป็นหลักประกันธุรกิจ กู้เงินได้

ตัวช่วยผู้ประกอบการ ! เปิดชื่อต้นไม้มีค่า 58 ชนิด นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อได้

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนต้องมองหาแนวทางเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ โดยใช้สินทรัพย์ที่มีมาแปลงเป็นทุน

คำแนะนำแนวทางการใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ปี 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดกว้างให้นำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจได้ โดยจะต้องยื่นขอจดทะเบียนหลักประกันที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินหลายประเภทที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ (เช่น สินค้า คงคลัง และวัตถุดิบ) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ การเปิดกว้างให้นำไม้ยืนต้นมาจดหลักประกัน เริ่มมาเมื่อปี 2561 จากเดิม ไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์จะไม่ได้รับการประเมินในการให้สินเชื่อ แต่จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินเท่านั้น

หลังหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้กฎกระทรวงออกมีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นสามารถเพิ่มประเภททรัพย์สินในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ เกษตรกร และประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน

58 ชนิดที่ยื่นจอเป็นหลักประกันได้

ปัจจุบัน มีประเภทไม้ยืนต้นที่สามารถเป็นหลักประกันธุรกิจได้ 58 ชนิด ประกอบด้วย ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม

ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด

ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร ) แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม

   

สถิติการใช้ไม้ยืนต้นยื่นหลักประกัน

ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า สถิติการจดทะเบียนการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน ปัจจุบันมีทั้งสิน 146,282 ต้น เป็นจำนวนเงินค้ำประกัน 137,117,712 บาท ทั้งนี้ แบ่งเป็นยื่นกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวนต้นไม้ 318 ต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 3,103,912 บาท

สำหรับประเภทต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักประกัน ได้แก่ มะขาม มะกอกป่า สะดา ตะโก โมกมัน งิ้วป่า กระท้อน มะเกลือ ยอป่า มะม่วง ไม้แดง ยาง ประดู่ป่า มะหาด พะยอม เสลา เต็ง ประดู่บ้าน รัง พลวง สัก ตะแบกนา มะขามเทศ ตะกู พฤกษ์

โดยยื่นกับธนาคารกรุงไทย จำนวน 23,000 ต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 128,000,000 บาท ประเภทต้นไม้ เช่น สัก และยื่นกับพิโกไฟแนนซ์ จำนวนต้นไม้ 122,964 ต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 6,013,800 บาท ประเภทต้นไม้ ได้แก่ ต้นยางพารา ต้นขนุน ต้นสับปะรด ต้นยูคาลิปตัว ต้นสัก ไม้สกุลทุเรียน

ภาพรวมการยื่นหลักประกัน

ขณะที่ภาพรวมการยื่นรับหลักประกัน มีผู้ยื่นจำนวน 361 ราย และสถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 685,568 คำขอ จำนวนเงินที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 12,993,562 ล้านบาท

โดยมีประเภท สิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินที่ยื่นใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด 77.93% มูลค่า 10,125,750 ล้านบาท รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ 22.04% มูลค่า 2,863,999 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา 0.02% มูลค่า 1,991 ล้านบาทกิจการ 0.01% มูลค่า 1,287 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 0.003% มูลค่า 398 ล้านบาทและ ไม้ยืนต้น 0.001% มูลค่า 137 ล้านบาท

จดทะเบียนออนไลน์

ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจ ได้ปรับวิธีการทำงานยื่นหลักประกัน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย ด้วยการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนของผู้รับหลักประกันทั่วประเทศ จะต้องมายืนยันตัวตนที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ

เป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้บริการประชาชนแบบเรียลไทม์

และในอนาคตสามารถยืนยันตัวตนเพื่อขอรับบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน (Username and Password) ของผู้รับหลักประกัน ผ่านระบบได้ และพัฒนาระบบการแจ้งความยินยอมเป็นผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแอบอ้างและคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ