ภาพโดย Dean Moriarty จาก Pixabay
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2565 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวตามรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลมากขึ้น
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. ระบุว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมแสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง และมีความชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 1.3 ล้านคน ทำให้ธุรกิจในภาคบริการปรับดีขึ้น ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง
อย่างไรก็ดี การค้าลดลงจากการจับจ่ายใช้สอยลดลง เพราะกำลังซื้ออ่อนแอ ขณะที่ตลาดแรงงานเห็นสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้นหลายเดือน
ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า หลังนักลงทุนกังวลธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเกิดเศรษฐกิจชะลอลงในระยะข้างหน้า จึงระมัดระวังลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ทำให้เงินสกุลตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินบาทไม่ได้อ่อนที่สุดในภูมิภาค ยังอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกัน
“เราเห็นเงินทุนไหลออก แต่เป็นการไหลออกตามภาวะตลาด ไม่ได้ผันผวนมากจนเกินไป ภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีนี้น่าจะยังเห็นการไหลเข้าสุทธิ” ชญาวดีกล่าว
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 7.1% เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน เพราะราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยังคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่สูงที่สุดในไตรมาส 3 ก่อนจะทยอยปรับลดลง
ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบค่อนข้างมากในเดือนพฤษภาคม เป็นผลมาจากการส่งกลับผลกำไรตามฤดูกาลของบริษัทต่างชาติ โดยคาดว่าการขาดดุลจะทยอยลดลงในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมทั้งปีไทยจะขาดดุลราว 8 พันล้านดอลลาร์
ที่มา THE STANDARD WEALTH