“พาณิชย์” จับตา “เงาะ” ผลไม้ดาวรุ่งดวงใหม่ เผยส่งออก 5 เดือนปี 65 ปริมาณเฉียด 1 หมื่นตัน เพิ่ม 248.33% เหตุบริหารจัดการผลผลิตไม่ยุ่งยาก การคัดคุณภาพทำได้ไม่ยาก คาดแนวโน้มโตได้อีก ประเมินทั้งปีทะลุ 2 หมื่นตันแน่
นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยปลูกเงาะ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ เงาะโรงเรียนและเงาะสีทอง ผลผลิตรวมมีปริมาณ 280,000 ตัน โดยเงาะกำลังเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ตลาดให้การตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากที่ผ่านมาส่งออกปีละ 12,000-15,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของผลผลิตทั้งหมด แต่ในช่วง 5 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) เงาะสามารถสร้างสถิติส่งออกใหม่ โดยส่งออกได้ถึง 9,437 ตัน มูลค่า 177.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 248.33% มีตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น และคาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ถึง 20,000 ตัน หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 7%
สาเหตุที่ทำให้ชาวสวนเริ่มให้ความสนใจการส่งออกเงาะมากขึ้น เพราะการบริหารจัดการผลผลิตไม่ยุ่งยาก การคัดคุณภาพสามารถดูได้จากผิวของผลไม้ ซึ่งต่างจากทุเรียนและมังคุด และตลาดปลายทางยังให้การต้อนรับดี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย กำไรต่อหน่วยเป็นที่พึงพอใจของชาวสวน เพราะต้นทุนการปลูกไม่สูงเหมือนผลไม้ชนิดอื่น ความเสี่ยงต่ำ จึงเหมาะสำหรับเป็นผลไม้ที่เก็บกินยาวๆ ถึงแม้ไม่หวือหวามากนัก แต่มีความมั่นคงสูงในอนาคต
นายวิทยากรกล่าวว่า ผลไม้เมืองร้อนของไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ส่งผลให้ผลไม้เหล่านี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะทุเรียน กลายเป็นสินค้าเกษตรที่ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุดเป็นอันดับ 1 แทนข้าวและยางพารา โดยชาวสวนทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการโค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียนมากขึ้น คาดว่าผลผลิตของทุเรียนไทยจะมีปริมาณมากกว่า 2 ล้านตันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงว่าถ้าปลูกทุเรียนกันมากๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ในอนาคตอาจเกิดปัญหาด้านราคาได้ เพราะไทยพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจีน ที่ไทยส่งออกไปมากกว่า 90% ของการส่งออกไปทั่วโลก อีกทั้งการส่งออกทุเรียนมีขั้นตอน และต้องการความรู้ เทคนิคต่างๆ ในการควบคุมคุณภาพจากสวนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงเป็นผลไม้ที่มีราคาสูง ถ้าเกิดความผิดพลาดก็จะเสียหายในมูลค่าที่สูงเช่นกัน ส่วนเงาะ การบริหารจัดการผลผลิต และการควบคุมคุณภาพ ทำได้ง่ายกว่า โอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นก็มีมาก
สำหรับแผนการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดมาตรการทำงานไว้ทั้งสิ้น 17+1 มาตรการ ทั้งมาตรการในประเทศและส่งออกต่างประเทศ และเมื่อมีปัญหาด้านราคา หรือปัญหาด้านการส่งออก ก็ได้เข้าไปบริหารจัดการอย่างทันท่วงที ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ที่มา ผู้จัดการ