ธปท. มองเศรษฐกิจ ก.ค.-H2/65 รับแรงส่งฟื้นตัว จับตาต้นทุน-ค่าจ้าง-ราคาสินค้า-อุปสงค์ ตปท.

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.65 จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย.65 และในช่วงครึ่งปีหลังยังจะได้รับแรงส่งจากไตรมาส 2/65 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 3% เล็กน้อย จากการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ธปท.ยังต้องติดตาม การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้างและราคาสินค้า รวมถึงอุปสงค์ในต่างประเทศที่อาจชะลอตัว รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด -19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“ไตรมาส 2/65 ถ้าดูตามเครื่องชี้เศรษฐกิจดีเกือบทั้งหมด ทำให้คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องมากกว่า 3% เล็กน้อย ส่วนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมองว่ายังมีแรงส่งจากการบริโภคเอกชน และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อได้ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ให้รอดูจากสภาพัฒน์ที่จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีอีกครั้ง ส่วน ธปท. ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3% ตามคาดการณ์เมื่อเดือน มิ.ย.65” นางสาวชญาวดี กล่าว

ธปท. ระบุว่า ในเดือน ก.ค. ธุรกิจภาคการค้าและบริการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศประกอบกับผลของวันหยุดยาว อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อ

สินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่าดีขึ้นเล็กน้อย ตามผลของการเปิดประเทศและวันหยุดยาว โดยสินค้าคงทนดีขึ้นเล็กน้อย ตามการทยอยส่งมอบรถยนต์และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับยอดจองที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่โรงแรมและร้านอาหารดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังยกเลิก Thailand Pass และการขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4

การขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ดีขึ้น ตามการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศและทางบก จากการเปิดประเทศและวันหยุดยาว รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่สูงจากราคาน้ำมันยังคงกดดันอยู่

อสังหาริมทรัพย์ทรงตัวตามความต้องการบ้านแนวราบและกลุ่ม Luxury ที่มีต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการกลุ่มอาคารชุดเริ่มฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น รายได้ที่ฟื้นตัวช้าและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตในระยะข้างหน้า ส่วนก่อสร้าง ดีขึ้นเล็กน้อย จากงานก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ยังได้รับผลกระทบจากราคาวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง

ด้านการผลิต ตลาดในประเทศทรงตัว จากการทยอยเพิ่มราคาอาหารและเครื่องดื่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังถูกกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ ส่วนตลาดส่งออกทรงตัว โดยมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องในหลายกลุ่มสินค้า เช่น อาหารกระป๋อง ยานยนต์ และสิ่งทอ แต่ต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ อาจกดดันกำลังซื้อในระยะถัดไป

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ในช่วงสั้น ๆ ประมาณสัปดาห์หน้าอาจจะยังเห็นสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากตลาดฯคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลต่อมุมมองนักลงทุนต่อภาพเศรษฐกิจและภาพการเงิน โดยนักลงทุนยังคงกังวลเรื่องความเสี่ยง ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยสหรัฐที่จะสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนปรับตัวและจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะสั้น โดยเฉพาะทยอยออกจากประเทศที่ถือเป็นการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง อย่างตลาดเกิดใหม่ เข้าไปที่ประเทศตลาดปลอดภัย แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นประเด็นที่น่าเป็นกังวล

สำหรับมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นั้น จากหลักการและการประเมินในช่วงที่ผ่านมา เป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับวงเงินที่จะเข้ามาในระบบด้วย ด้านประสิทธิผลถือว่ากระตุ้นได้ดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์