นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลการเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียร่วมคณะกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในระหว่างวันที่ 27-31 ส.ค.65 ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้เป็นตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับ The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) เพื่อผลักดันและส่งเสริมขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในตลาดซาอุดีอาระเบีย และเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้าคาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียขึ้น
ขณะที่ซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทยไปร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City) เมืองไฮเทคแห่งอนาคต จุดประสงค์หลักคือ ลดการพึ่งพาน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยสามารถสร้างโอกาสโดยการส่งออกสินค้าที่ช่วยหนุนในนโยบายนี้ได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างจากการก่อสร้างและขยายเมืองใหม่
รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และโอกาสในการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น รวมไปถึงการส่งออกสินค้าอาหารของไทยก็ยังมีแนวโน้มเติมโตได้ ประกอบกับไทยถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ซึ่งมีความได้เปรียบทั้งด้านโลจิสติกส์และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และในโครงการนี้ยังตั้งเป้าในการปลูกต้นไม้มากถึง 10,000 ล้านต้น ประเทศไทยหลายภาคส่วนก็มีความสนใจดึงนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียมาลงทุนที่ประเทศไทย ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับต้นๆ ของโลกจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรได้หลายหลายมิติได้ เช่น อาหาร, อาหารเสริม, ยารักษาโรค, เครื่องสำอาง Biofabrics เส้นใยผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ Biochemical, Biofertilizer และ Biofuel รวมถึง food for the future เช่น โปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG การนำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก ทั้งเรื่องการเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น อีกทั้ง ส.อ.ท. มีการขับเคลื่อนโครงการ Smart Agricultural Industry หรือ SAI เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรและมุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่
นอกจากการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ภาคเอกชนขอให้ทางประเทศซาอุดีอาระเบียดำเนินการเรื่อง การขอวีซ่าระหว่าง ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อปลดล็อคเรื่องการขอวีซ่าที่ใช้ระยะเวลานาน หากทางซาอุดีอาระเบียช่วยเร่งรัดและกระชับในกระบวนการนี้จะเป็นเรื่องที่ดีในการส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย
การเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ยังพบอีกว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียยังมีความต้องการการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก มีทุนแต่ยังขาดความรู้ในการผลิต จึงต้องการเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุน พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์มากมาย และขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียยังเตรียมจัด Webinar ให้กับผู้ประกอบการไทยได้รับทราบถึงความต้องการของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะทางด้านชิ้นส่วนยานยนต์ หากมองถึงโอกาสในการส่งออก และนำเข้าของไทยในตลาดซาอุดีอาระเบียนั้น ไทยมีศักยภาพเกือบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น สินค้ากลุ่มอาหารและวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ผักผลไม้ ที่มีการส่งออกไปซาอุฯ ถึงวันละประมาณ 3 ตัน ทำให้ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยและซาอุฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 5,730 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 46.42% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปี 2564 ซึ่งแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,112.42 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14.79% และการนำเข้า มูลค่า 4,617.58 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 56.83% และในอนาคต FTA ไทย-กลุ่ม GCC (Gulf Cooperation Council; กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ) ก็น่าจะเป็นโอกาสทองของไทยในการขยายการค้ากับกลุ่มอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ดังนั้นไทยควรเร่งทำ FTA เพื่อขยายการค้า การลงทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าจากจีน เกาหลีใต้ ที่กาลังเร่งขยายตลาดการค้าใน GCC
จากนั้นได้เข้าพบหารือกับผู้บริหารบริษัท Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) และเยี่ยมชมโรงงานปุ๋ย เพื่อพูดคุยทางเคมี ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลิตปุ๋ย ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย ผลอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งทางบริษัท SABIC ยินดีที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกปุ๋ยให้กับผู้ประกอบการไทย หากมีความต้องการเพิ่มขึ้น และได้เข้าพบปะสถานทูตไทย โดยปัญหาหนึ่งที่ได้รับทราบคือ แรงงานไทย ยังถูกมองว่าเป็นแรงงานราคาถูก จึงยังมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาในซาอุดีอาระเบียไม่มากนักในตอนนี้
“การเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 30 ปีที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ในระดับสูงกับประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเพื่อผลักดันการนำเข้าสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบียให้ขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหาร ที่เป็นสินค้าสำคัญของประเทศ และสินค้าสำคัญอื่นๆ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม” นายเกรียงไกร กล่าว
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์