สถานการณ์ค่าเงินของแต่ละประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างกำลังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพียงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่กำลังแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยก็เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่กำลังอ่อนค่าอย่างหนักตลอดทั้งปีนี้ ล่าสุด เงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ มากที่สุดในรอบ 16 ปี
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทหลังจากนี้ต้องติดตาม 2 ด้าน ทั้งในฝั่งของดอลลาร์และบาท
สำหรับค่าเงินดอลลาร์ ขณะนี้กำลังรับรู้ผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในรอบที่ผ่านมา ซึ่งท่าทีของ Fed ค่อนข้าง Hawkish มากขึ้น ส่วนการประชุมของ Fed ครั้งถัดไป นักลงทุนในตลาดประมาณ 70% คาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ย 70% ซึ่งในส่วนนี้ยังมีอีก 30% ที่คาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.50% หากท้ายที่สุดแล้ว Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เราอาจเห็นนักลงทุนในส่วนที่เหลืออีก 30% โยกเงินเข้าสู่ดอลลาร์มากขึ้น ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสจะแข็งค่าได้อีก
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ด้วยดุลการค้าที่ยังไม่ดีขึ้นนัก เป็นผลจากทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยตัวเลขการส่งออกไปจีนที่ประกาศออกมาวันนี้ยังคงติดลบ 20% ขณะที่การนำเข้ายังถูกกดดันจากการนำเข้าทองคำ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 200% ในปีนี้ โดยภาพรวมแล้วทำให้ไทยยังคงขาดดุลอยู่กว่า 4 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่ประเมินไว้ราว 3 พันล้านดอลลาร์
“เราไม่เคยเห็นการขาดดุลระดับ 4 พันล้านดอลลาร์ นับแต่ปี 2013 หากการประกาศตัวเลขดุลการค้าวันศุกร์นี้ (30 กันยายน) ขาดดุลทำสถิติใหม่ จะยิ่งกดให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก และอาจทะลุระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญคือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธนี้ (28 กันยายน) ซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าน่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่ก็เริ่มมีบางส่วนที่มองว่าอาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยไปได้ถึง 0.5% หลังจากที่ธนาคารของแต่ละประเทศในเอเชียต่างพยายามแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดการอ่อนค่า
“หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด อาจเป็นข่าวลบต่อเงินบาท เพราะมีบางส่วนที่คาดการณ์ว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% กลับกันหากขึ้นดอกเบี้ย 0.5% อาจทำให้เงินบาทหยุดอ่อนค่าในระยะสั้น แต่จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาด เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตัวคูณ P/E ที่นักลงทุนให้ลดลง”
ในมุมของหุ้นส่งออกที่โดยปกติแล้วนักลงทุนจะมองว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ในครั้งนี้อาจจะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มที่ส่งออกสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมจะถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ
“ก่อนหน้านี้หุ้นส่งออกอาหารเคย Outperform ช่วงไตรมาส 2 ช่วงนั้นเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 34 บาท ไปถึง 36 บาท ส่วนปัจจุบันหุ้นกลุ่มนี้ยังไม่ได้ตอบรับกับเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีคาดว่ากำไรไตรมาส 3 ของกลุ่มนี้น่าจะดีมากหลังจากต้นทุนเริ่มลดลง และอาจถูกหยิบมาเล่นอีกครั้ง”
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าไปใกล้กับระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับการประชุมของ กนง. ในวันพุธนี้ ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร และสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่
“เรามองว่าเงินบาทในระดับ 37.50-38.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นช่วงปลายของการอ่อนค่าแล้ว ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลง และการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้การขาดดุลการค้าลดลง”
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกมา 13 วัน จาก 17 วันทำการหลังสุด แต่หากเงินบาทกลับมานิ่งอีกครั้ง เชื่อว่าต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ทำให้หุ้นน่าจะยัง Outperform ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ได้
ส่วนหุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอาจจะมีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ในมุมของ บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่าหุ้นอย่าง ASIAN, TU และ SAPPE โดดเด่น
ที่มา THE STANDARD