10 เดือน ปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 72% หรือ 44,469 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 37,738 ล้านบาท ตามด้วย จีน 20,841 ล้านบาท และสิงคโปร์ 11,693 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 4,635 คน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ช่วง 10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 480 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 299 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,635 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด
5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 125 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท สิงคโปร์ 75 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 64 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท ฮ่องกง 35 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท และ จีน 22 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค. – ต.ค.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 อนุญาต 480 ราย ปี 2564 อนุญาต 446 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 (ปี 2565 ลงทุน 106,437 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 61,968 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 352 คน คิดเป็นร้อยละ 8 (ปี 2565 จ้างงาน 4,635 คน ปี 2564
จ้างงาน 4,283 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

* บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

* บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

* บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น

* บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ

* บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 24,326 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 7 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

คาดว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย. – ธ.ค. 2565) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนตุลาคม 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 44 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 17 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของ
คนต่างด้าว จำนวน 27 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,059 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 594 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยนอกชายฝั่งและการควบคุมหลุมขุดเจาะ องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบควบคุม และการอำนวยความสะดวกการจราจรในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการติดตั้งแม่พิมพ์ในเครื่องฉีดชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

* บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

* บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ดัดแปลง ตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองระบบ เชื่อมระบบฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับศูนย์ปฏิบัติการจราจร สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ และพัฒนาซอฟต์แวร์ การแก้ไขปัญหาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมระบบซอฟต์แวร์ การให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น

* บริการพัฒนา ENTERPRISE SOFTWARE

* บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ

 

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ