ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจดัชนีการครองชีพครัวเรือนในเดือนม.ค.ปรับดีขึ้นจาก 34.7 มาอยู่ที่ 35.1 และในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นจาก 37.1 เป็น 37.8 โดยครัวเรือนมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจากการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกิน 2 ล้านคนติดต่อกัน 2 เดือน แต่ครัวเรือนได้กังวลต่อค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้น และทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ได้เลือกลดการจับจ่ายใช้สอยลง โดย 37.7% ระบุว่า งดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็นลง และ 20.5% ลดการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า ขณะที่ 17.4% ชะลอการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยรูปแบบอื่นๆได้แก่ หารายได้เพิ่มเติม ทำงานมากขึ้น 16.5%,นำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4.2% และมีการออมเงินมากขึ้น 3.6% ซึ่งเห็นว่าการฟื้นตัวของการบริโภคของครัวเรือนยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ในปี 2566 การครองชีพครัวเรือนไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามแรงขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด แต่การฟื้นตัวยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก และค่าครองชีพไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง
ขณะที่สถานะหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังเป็นปัจจัยจำกัดการอุดหนุนค่าครองชีพจากภาครัฐ และค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการที่ปรับขึ้น จึงยังคงต้องติดตามการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินของครัวเรือนผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉพาะในรายย่อยก็เพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยปี 66 คาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75-2%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองของครัวเรือนหลังจากจีนมีการยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดและเปิดประเทศเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น โดยครัวเรือน 44.6% มองว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นผลดีต่อการจ้างงานไทย และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจะเป็นการสนับสนุนให้การจ้างงานในประเทศปรับตัวดีขึ้น 64% รองลงมามีมุมมองว่าจะสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงาน 21.8% และค่าจ้างที่ได้ 14.1%
อย่างไรก็ตามแม้ราคาน้ำมันจะเริ่มปรับลดลง โดยภาครัฐได้ประกาศปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตรเป็น 34.50 บาทต่อลิตร ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.66 เป็นต้นไป สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนม.ค. 66 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงที่ 5.02% ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง
ที่มา สยามรัฐ