นางเชอร์ลีย์ มุสตาฟา นักเศรษฐศาสตร์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากราคาข้าวที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกษตรกรขยายพื้นที่การเพาะปลูกและใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานข้าว หลังจากการผลิตข้าวในเอเชียปรับตัวลงในปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
เมื่อไม่นานมานี้ ผลผลิตข้าวนาปรัง (off-season rice) ในประเทศไทยและอินเดียซึ่งเป็น 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2565 ขณะที่เกษตรกรกำลังเร่งเพิ่มผลผลิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาข้าวพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี
นางมุสตาฟากล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ในซีกโลกเหนือ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อินเดีย และปากีสถาน จะเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี (main crops) ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. โดยคาดว่าผู้ผลิตเหล่านี้จะเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเพื่อตอบสนองต่อราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่ผู้ผลิตใช้ปุ๋ยมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นด้วย
การที่อินเดียได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกในปีที่แล้ว ประกอบกับผลผลิตข้าวทั่วโลกที่ลดลงหลังจากคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมในจีนและเกิดอุทกภัยในปากีสถานนั้น ได้ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งขึ้น ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากราคาอาหาร
อย่างไรก็ดี ราคาข้าวปรับตัวลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาข้าว 5% ในอินเดียและไทย อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี หลังจากที่ราคาพุ่งขึ้นไปถึงระดับดังกล่าวในช่วงต้นปีนี้
ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2565 การผลิตข้าวฤดูหนาว (winter-sown rice) ในอินเดียพุ่งขึ้นแตะระดับ 22.8 ล้านตัน จากระดับ 18.5 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยและเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกษตรกรเพิ่มการเพาะปลูก และสามารถชดเชยการลดลงของผลผลิตข้าวฤดูร้อน (summer-sown rice)
ส่วนในประเทศไทยนั้น FAO คาดการณ์ว่าการผลิตข้าวนาปรังในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 5.1 ล้านตัน
ข้อมูลจากสภาธัญพืชระหว่างประเทศ (IGC) คาดการณ์ว่า พื้นที่การผลิตข้าวทั่วโลกในปี 2566/67 จะเพิ่มขึ้นเป็น 165.70 ล้านเฮกตาร์ จากระดับ 163.74 ล้านเฮกตาร์ และคาดว่าการผลิตข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 521.49 ล้านตัน จากระดับ 509.30 ล้านตัน
ปีเตอร์ คลับบ์ นักวิเคราะห์ด้านการตลาดของ IGC กล่าวว่า “เราคาดว่าราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในปี 2566/2567 โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่”
ขณะเดียวกันราคาปุ๋ยปรับตัวลงในไตรมาสเดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้ เนื่องจากซัพพลายจากเบลารุสซึ่งเป็นผู้ส่งออกโปแตช (potash) รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกนั้น เริ่มกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง และต้นทุนวัตถุดิบหลัก ซึ่งรวมถึงไนโตรเจน ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในปี 2565
อย่างไรก็ดี สภาพอากาศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตข้าวในเอเชีย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์อากาศส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า เอเชียจะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชียแห้งแล้ง
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์