3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร เผยไตรมาส 1/66 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจหลายประเทศฟื้นตัวจากโควิด-19 คาดปี 66 ส่งออกอาหารไทยยังแข็งแกร่ง ฝ่าวิกฤติรอบด้าน ลุ้นทำนิวไฮต่อเนื่อง 1.5 ล้านล้านบาท เติบโต 2.1%
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่า ในไตรมาส 1/66 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในไตรมาสที่ 2 และกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในไตรมาส 1/66 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว
ไตรมาส 1/66 สินค้าเกษตรขยายตัวดี แม้มีปัจจัยถ่วง ศก.โลกชะลอ
สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดีในช่วงไตรมาส 1/66 ได้แก่
- การส่งออกน้ำตาลทราย มีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดีย ได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว
- การส่งออกข้าว มีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2% เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญและความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น
- การส่งออกไก่ มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป
- การส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.4% จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลง ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกหลักหลายรายการหดตัวลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหา 2 ด้าน คือ
- วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด
- ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในกลุ่มประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าที่พึ่งพิงตลาดหลักดังกล่าวหดตัวลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น
นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบความสามารถในการนำเข้าของญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ (-6%), กุ้ง (-20%), สับปะรด (-40%), เครื่องปรุงรส (-40%) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะหดตัวลงจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเยนอ่อนค่ากรณีตลาดญี่ปุ่น แต่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดรองหรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าว (GCC) ลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวในระดับสูง รอการรุกตลาด และเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
คาดส่งออกสินค้าอาหารไทยทั้งปี 66 ทำนิวไฮ
จากการประเมินแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 66 การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 66 โดยในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลง 1% และกลับมาขยายตัวได้ 5.2% ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 66 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
- ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน
- การขาดแคลนอาหารตลอด Supply Chain ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนา และตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19
- ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร (Food Safety) ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภค มีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น
- ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก
- จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่
- ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น
- ความกังวลของเศรษฐกิจไทยจากความผันผวนของค่าเงิน โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนในช่วง 33-38 บาท/ดอลลาร์ แต่โดยเฉลี่ยแล้ว เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 2.6%
- ความกังวลภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
- เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนญี่ปุ่น และความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากภายนอก
- ภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น
- ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น
เสนอรัฐบาลใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร
อุตสาหกรรมอาหาร คือรากฐานและเป็น Soft power ของประเทศ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนฐานราก ท้ายสุดจะช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง (High-income countries)
ดังนั้น จึงฝากข้อเสนอสำหรับรัฐบาลใหม่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยเน้นเป้าประสงค์ 3 ข้อ พร้อมมาตรการสนับสนุน ดังนี้
1. ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก สนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิต รวมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่หรือสหกรณ์) สนับสนุนเกษตรกร และผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน และมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตยั่งยืน และเป็นแกนกลางสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปสู่ระดับการผลิตต้นน้ำในระดับฐานราก
2. สร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้ BCG โมเดล สนับสนุนนโยบายการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล BCG & ESG ให้สามารถเปลี่ยนถ่ายได้โดยไม่ได้มีต้นทุนที่สูง ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในห่วงโซ่อาหารเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ส่งเสริมการพัฒนาการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Circular economy)
3. ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงด้วยอุตสาหกรรมอาหาร (High-income countries) สนับสนุนผู้ประกอบการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ในการยกระดับสินค้าพื้นฐาน (Basic food) ไปสู่อาหารอนาคต (Future food) มาตรการผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากการที่ไทยมีอาหารเป็น Soft power พร้อมจัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุนจัดตั้งหน่วยงานหลัก และสนับสนุนงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกอาหารของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีตัวแปร 3 ข้อ คือ
1. ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มเกิดในประเทศไทยแล้ว ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการน้ำ
2. วัตถุดิบไม่เพียงพอ
3. ค่าเงินบาทที่ผันผวน จึงฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารประเทศในอนาคต เข้ามาดูแลเรื่องค่าเงิน เพื่อให้ภาคการส่งออกของไทยสามารถต่อสู้กับประเทศคู่แข่งได้
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ผลักดันเรื่องราคาพลังงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟ และค่าน้ำมัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มถึง 5-20%
ดังนั้น จึงเรียกร้องให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) คิดค่า FT บนฐานต้นทุนที่แท้จริง และแก้ไขสัญญาประกันกำไรของโรงงานไฟฟ้าสมัยใหม่ เพื่อให้ค่าไฟลดลง และภาคการผลิตสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
“ประชากรไทยเกี่ยวเนื่องกับเกษตรและอาหาร คิดเป็น 60% หรือ 40 ล้านคน ดังนั้น จึงควรมีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าอาหาร และคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะผลักดันสินค้าเป็น High Value มากขึ้น ขณะนี้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม เพราะค่าพลังงานและค่าการผลิตเพิ่ม ตอนนี้จึงหวังพึ่งภาคท่องเที่ยว เนื่องจากสถาบันอาหารระบุว่า ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว 22% จาก 100 บาท ใช้จ่ายกับอาหารและเครื่องดื่ม” นายเจริญ กล่าว
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์