กรมการค้าภายในกางแผนรับมือราคาสินค้าครึ่งปีหลัง สร้างสมดุลเกษตรกร-ผู้ผลิต-ประชาชน มั่นใจยังเอาอยู่ เร่งตั้งโต๊ะซื้อผลไม้ 2 แสนตัน หาตลาดรองรับ-ผลักดันส่งออก พร้อมขอความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่ชั่วคราว
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในเฝ้ามอนิเตอร์สถานการณ์ราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีหลังกรมยังอาศัยวิน-วินโมเดลเป็นแนวทางในการกำกับดูแล เพื่อสร้างสมดุลให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ เกษตรกร และผู้บริโภคก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ
“แผนราคาสินค้าครึ่งปีหลังเราเตรียมไว้ โดยต้องดูตามหลัก ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ไม่ใช่บีบจนอยู่ไม่ได้แล้วใครจะผลิต สินค้าก็ขาดตลาด แต่หลักแล้วการดูแลจะต้องเน้นกลุ่มสินค้าจำเป็น โดยพยายามเน้นสินค้าแพ็กเกจจิ้งที่จำเป็นในครอบครัวให้ราคาลดลงมากที่สุด เพื่อบรรเทาภาระผู้บริโภค”
ขณะที่สินค้าเกษตรก็ต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน โดยที่ผ่านมาเป็นช่วงฤดูการผลิตผลไม้ ทางกรมได้ใช้อมก๋อยโมเดล ดูแลราคาผลผลิตให้มีเสถียรภาพ โดยการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก โดยจัดหาเอกชนเข้าไปช่วยรับซื้อประมาณ 2 แสนตัน เพื่อกระจายสู่ตลาดลดผลกระทบต่อเกษตรกร
อีกด้านหนึ่งการส่งออกผลไม้ปีนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยกรมได้ร่วมกับกรมเจ้าท่าปลดล็อกปัญหาเรื่องสายเรือ ทำให้มีตู้คอนเทนเนอร์ไหลเข้ามาจำนวนมาก เมื่อมีปริมาณตู้มากขึ้นก็ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ (ค่าเฟรตเรือ) ปีนี้ไม่มีปัญหา การส่งออกสามารถทำได้คล่องตัว โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกได้ดี ส่งผลให้ราคาทุเรียนหน้าสวนเกรดส่งออกพุ่งไปถึง 200 บาท/กก.
ในส่วนของต้นทุนการผลิตของเกษตรกรขณะนี้ กรมได้ติดตามประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาวัสดุทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยราคามีแนวโน้มลงมา ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ต้องยอมรับว่าต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังมีราคาทรงตัวสูงต่อเนื่อง
หลังจากเกิดเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาข้าวโพดทรงตัวสูงที่ 12 บาท/กก. จากราคาประกัน 8.50 บาท สินค้ามันสำปะหลังก็ทรงตัวสูงที่ 3.80 บาท/กก. สูงกว่าราคาประกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาถั่วเหลืองซึ่งยังทรงตัวสูง
“ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังสูง นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ต้องเผชิญต้นทุนสูง ใกล้เคียงกับราคาขาย เช่น ราคาไข่ไก่ ต้นทุนขึ้นไป 3.70 บาทต่อฟอง แต่ทางกรมก็ยังขอความร่วมมือให้เกษตรกรรักษาระดับราคานี้ไว้ก่อนเพื่อบรรเทาภาระผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าเมื่อผ่านพ้นฤดูร้อนไปแล้วปริมาณผลผลิตมาถัวเฉลี่ยกันได้”
ที่มา ประชาติธุรกิจ