ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.66 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เร่งจัดตั้งรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน หวั่นลากยาวถึงช่วงสิ้นปี ทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 1-1.5%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2566 จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 1,327 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวลดลงจาก 95.0 ในเดือนเมษายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวน นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาพลังงาน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองหลังเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอน และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออก
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลง จาก 105.0 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง ขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1)ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อาทิ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเสริมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น
2)สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยและช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก
3)เร่งให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะนักลงทุนต่างชาติกำลังรอดูความชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้หากมีการประท้วงลงถนนเหมือนที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 30 ล้านคน อาจจะลดลงจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงเดือนสิงหาคม ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่หากจัดตั้งล่าช้าหรือลากยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 จะทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 1-1.5% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 3.5% ก็อาจจะลดลงเหลือ จีดีพีเติบโตเพียง 2.5% เป็นต้น
โดย ส.อ.ท.ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids
ที่มา สยามรัฐ