การส่งออก เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย แต่ปี 2023 นี้อาจไม่เติบโตได้อย่างราบรื่นนักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนแบบนี้ยิ่งทำให้การติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเห็นทิศทางของการส่งออกในปีนี้
พาณิชย์เผยมูลค่าการใช้สิทธิฯ FTA ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้แตะ 25,831 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ล่าสุดนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนม.ค. – เม.ย. ปี 2023 จำนวน 12 ฉบับ มีมูลค่ารวม 25,831 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 74.75%
ทั้งนี้ ทุเรียนสดเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปจีนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน มีมูลค่าสูงถึง 2,022.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มสูง 85.31% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ราว 1,091 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และกรอบความตกลง RCEP)
กรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน มูลค่า 9,451.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 73.35%
- อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 7,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 92.40%
- อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 2,117 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 69.67%
- อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 1,875 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.41%
- อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 1,681.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.72%
นอกจากนี้สำหรับความตกลง RCEP ช่วง ม.ค. – เม.ย. 2023 มีการส่งออกไปยัง 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 421.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 106.72% จากปีก่อนหน้า
ยอดส่งออกทุเรียนสดโต แต่ทำไมมูลค่าการใช้สิทธิ FTA ภาพรวมลดลง?
หากดูมูลค่ามีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภาพรวมช่วง 4 เดือนแรก รวม 25,831 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังลดลง 2.27% และหากเจาะลึกดูมูลค่าการใช้สิทธิ FTA เดือนเม.ย. 2566 จะพบว่ายังติดลบในหลาย FTA เช่น AFTA (อาเซียน), TCFTA (ชิลี), AANZFTA (นิวซีแลนด์) ฯลฯ (มูลค่าการใช้สิทธิ FTA เดือนเม.ย. 2566 มี FTA ที่เป็นบวกได้แก่ ACFTA – จีน, TPCEP – เปรู )
การติดลบอาจสะท้อนได้ถึงภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2023 ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยภาพรวม 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า
- การส่งออก มีมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- การนำเข้า มีมูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 4,516.0 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่กดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก รวมถึงความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ยังกดดันเศรษฐกิจโลกให้มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น และส่งผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยปี 2023 ว่าจะเติบโตราว 1-2%
ปี 2023 การส่งออกไทยเสี่ยงติดลบจากฐานสูงในปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่จะกดบรรยากาศการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก สภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงทิศทางค่าเงินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2023 ติดลบที่ 1.2%
และแม้ว่าไตรมาส 1 / 2023 ที่การส่งออกไทย จะหดตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น ๆ ในปีนี้ เพราะฐานที่สูงในปี 2022 แต่ระยะข้างหน้าการส่งออกไทยอาจหดตัวชะลอลงในไตรมาสถัดไปและอาจกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 จากปัจจัยฐานที่ลดลง
ขณะเดียวกันมองว่าในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่ดุลการค้าจะพลิกกลับมาติดลบได้อีกตามมูลค่าการส่งออกที่อาจลดลง ขณะเดียวกันการนำเข้าก็มีความเสี่ยงที่จะยังยืนอยู่ในระดับสูงตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ที่มา – Brand Inside, กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย