สมาคมอาหารสัตว์ ตั้งรับอียูใช้คาร์บอนฟุตพรินต์ไก่ส่งออกอีก 2 ปี เร่งผนึก 15 องค์กร-มจธ. เตรียมสูตรคำนวณการปล่อยคาร์บอน จี้รัฐบาลใหม่เร่งเครื่องรับมือวาระโลก พร้อมปรับแผนนำเข้าจากสหรัฐ แหล่งปลูกที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดก่อนเสียส่งออกหลัก 1.8 แสนตัน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ในอนาคตธุรกิจเกษตรส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สหภาพยุโรปที่เตรียมจะบังคับใช้มาตรการเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์สินค้าไก่ที่ส่งออกไปอียูในปี 2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงอุตสาหกรรมไก่เพื่อการส่งออกจะต้องระบุให้ได้ว่าตั้งแต่ต้นทางการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศปริมาณเท่าไร หากไม่สามารถระบุได้อาจมีผลต่อการนำเข้าไก่จากไทยเข้าอียู ซึ่งจะทำให้สูญเสียตลาดส่งออกไก่ปริมาณ 180,000 ตัน
โดย 3-4 ปีที่ผ่านมา สมาคมได้มีการผลักดันเรื่องมาตรฐานการวัดคาร์บอนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดที่ปลูกในประเทศที่ใช้อยู่ 4 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ 7 ล้านไร่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการทำมาตรฐานการปลูกข้าวโพด เพราะส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องราคารับซื้อ สิ่งที่สมาคมเสนอคือ การทำเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (good agricultural practices & GAP) กับไร่ข้าวโพด 7 ล้านไร่ แต่กลับไม่มีใครทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต ต่อไปการค้ากับต่างประเทศจะไม่ถามเรื่องราคาแล้ว แต่จะถามว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร จึงต้องฝากให้กับรัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในเรื่องนี้
สำหรับสมาชิก 15 ราย ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์เคี้ยวเอื้อง สมาคมสัตวแพทย์สัตว์น้ำไทย สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์พรีเชี่ยน สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมกุ้งไทยสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย และบริษัท ซีพี แอ็กตร้า จำกัด (มหาชน)
นายพรศิลป์กล่าวว่า พร้อมกันนี้ สมาคมยังได้พิจารณาปรับแนวทางในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ใหม่ ทั้งการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ การนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ 5 ล้านตันต่อปี และในอนาคตอุตสาหกรรมไทยต้องวางแผนการนำเข้าวัตถุดิบใหม่ด้วย จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกาน่าจะดีที่สุด เพราะอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากทั้งเมล็ดมาถึงกากถั่วเหลือง เพียงประมาณ 0.45 กิโลคาร์บอน/กก. ต่ำกว่าบราซิลที่ปล่อย 5.75 กิโลคาร์บอน/กก. และอาร์เจนตินา 5.56 กิโลคาร์บอน/กก. คิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่า 10 เท่า
“ในอนาคตการนำเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตอาหารสัตว์เพื่อแปลงไปเป็นเนื้อส่งออกไปญี่ปุ่นหรือสหภาพยุโรป จำเป็นต้องปรับมาใช้สินค้าสหรัฐแทน หากบราซิลและอาร์เจนตินาไม่ปรับปรุงเรื่องนี้ เช่นเดียวกับในประเทศที่โรงงานอาหารสัตว์จะต้องหยุดซื้อจากประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเช่นกัน”
ขณะที่นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทยกล่าวว่า ตอนนี้เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์มีแนวโน้มที่จะประกาศใช้ เพียงแต่อียูยังให้เวลาในการปรับตัว และอาจจะเริ่มจากพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อน เช่น ถั่วเหลืองสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องห้ามรุกป่า ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีใบรับรองว่าเป็นถั่วเหลืองที่ไม่ได้มาจากการทำลายป่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องอัตราคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างชัดเจน แต่หลักคือ ไก่ไทยมีการปล่อยคาร์บอนเท่าไร มาตรฐานอียูเท่านี้ ถ้าเกินก็ต้องเสียภาษีเพิ่ม ลักษณะเดียวกับ CBAM ที่ใช้ในปุ๋ย พลังงาน เหล็ก ซึ่งจะต้องมีบริษัทผู้ตรวจสอบมารับรอง
สำหรับตลาดส่งออกไก่เดิม ตลาดอียูรวมสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 320,000 ตัน แบ่งเป็น สหราชอาณาจักร 150,000-160,000 ตัน ตลาดสหภาพยุโรปปริมาณ 180,000 ตัน ซึ่งเฉพาะอียูเป็นตลาดอันดับ 2 รองจากตลาดอันดับ 1 คือญี่ปุ่นปริมาณ 458,000 ตัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ