กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) พบจะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวเพิ่ม ดันมูลค่าการค้าโต 16.75% ชี้ กลุ่ม PA จะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสินแร่และสัตว์น้ำ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance : PA) ว่าการสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอประโยชน์และผลกระทบในการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ในภูมิภาคละตินอเมริกา คือ ชิลี เปรู โคลอมเบีย และเม็กซิโก โดยกรมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ ผลการศึกษาประเมินว่า สินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับประโยชน์ อาทิ ธัญพืช พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของทำด้วยยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สินค้าที่ต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ได้แก่ ปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สินแร่ ตะกรันและเถ้า เฟอร์นิเจอร์ โลหะต่าง ๆ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสาขาบริการของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร การค้าส่งค้าปลีก และการก่อสร้าง ส่วนสาขาบริการที่ต้องปรับตัว อาทิ การขนส่ง สื่อ และการบริการธุรกิจอื่น ๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับชิลีและเปรู แต่ยังไม่มี FTA กับเม็กซิโกและโคลอมเบีย โดยกลุ่ม PA มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มี GDP รวมกันคิดเป็น 36% ของภูมิภาคละตินอเมริกา และมีประชากรรวมกันกว่า 225 ล้านคน
สำหรับในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม PA มีมูลค่า 6,239.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปกลุ่ม PA มูลค่า 4,359.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากกลุ่ม PA มูลค่า 1,880.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ยาง
ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ