นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ส.ค.66) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.36 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.53 แสนล้านบาท หรือ 6.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.9% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ กรมสรรพากร รวมถึงส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษที่ไม่ได้อยู่ในประมาณการ และกรมศุลกากร
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รวมของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 2.46 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.01 แสนล้านบาท หรือ 4.3% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.41 หมื่นล้านบาท หรือ 1.4% โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.91 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.65 แสนล้านบาท หรือ 9.5% จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 4.35 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8.46 หมื่นล้านบาท หรือ 16.3% เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นระยะเวลา 10 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ส่วนกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.04 หมื่นล้านบาท หรือ 21.2%
ขณะที่รัฐวิสาหกิจมีการส่งรายได้รวมในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 1.43 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 156 ล้านบาท หรือ 0.1% ขณะที่หน่วยงานอื่น มีการนำส่งรายได้รวมอยู่ที่ 2.19 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7.78 หมื่นล้านบาท หรือ 54.8% เนื่องจาก การนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เป็นรายได้แผ่นดิน เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น
ที่มา สยามรัฐ