นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนต.ค.66 และ 10 เดือนแรกของปี 2566 โดยยอดส่งออกของไทยในเดือนต.ค.66 มีมูลค่า 23,578.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8 สูงสุดรอบ 13 เดือน ส่งผลให้ยอดส่งออกรวม 1 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.66 ยอดส่งออกรวมอยู่ที่ 236,648.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 2.7 โดยคาดหวัง 2 เดือนที่เหลือหากยอดส่งออกเกินกว่า 23,950 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปโอกาสที่ตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 66 น่าจะติดลบไม่มากแน่นอน ทั้งนี้หากตัวเลขการนำเข้าในเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ 24,411.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 10 ทำให้ยอดการนำเข้า 10 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค.66 อยู่ที่ 243,313.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบรัอยละ 4.6 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ 832.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 10 เดือนไทยขาดดุลอยู่ที่ 6,665.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้หากดูทิศทางการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยภาพรวมเมื่อเทียบกับการส่งออกในปีเทศต่างๆแล้วถือว่าไทยติดลบน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น ซึ่งมีสัญญาณที่ดีต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาดีขึ้น ดังนั้นหากไทยลงผลักดันการส่งออกร่วมมือกับภาคเอกชนทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ก็เชื่อว่าโอกาสการส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ประกอบกับสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสถือว่าไม่รุนแรง ดังนั้นในปีหน้าโอกาสที่การส่งออกของไทยจะขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 1-2 หรือมียอดมูลค่าการค้าได้มากถึงกว่า 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แน่นอน
สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 37.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ มาเลเซีย และโกตดิวัวร์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 4.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และสหรัฐฯ) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 44.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม และเกาหลีใต้) อาหารสุนัขและแมว ขยายตัวร้อยละ 5.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย เยอรมนี และไต้หวัน) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 20.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ เมียนมา เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 9.6 กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และเมียนมา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 29.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 19.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน และออสเตรเลีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 5.4 หดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (หดตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เวียดนาม ปากีสถาน และอิตาลี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 5.6 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีใต้ และอียิปต์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา ลิเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 2.2 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ฮ่องกง และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 24.9 กลับมาหดตัวจากเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดลาว ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และปาปัวนิวกีนี แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา จีน และไต้หวัน) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.0
โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว ร้อยละ 5.4 ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 9.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 8.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก จีน และแคนาดา) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 27.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 38.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 24 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน อิตาลี และจีน)
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 4.2 หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐเช็ก และฝรั่งเศส) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 4.6 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.2 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และตุรกี) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 19.5 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร กัมพูชา และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ บราซิล และอิตาลี) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 2.8 เป็นต้นง
ที่มา สยามรัฐ