ธุรกิจโรงแรมปี 67 รายได้ฟื้นตามท่องเที่ยว แต่ยังกระจุกตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 67 รายได้ของธุรกิจโรงแรมและที่พักน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9.5 แสนล้านบาท เติบโต 16.6% จากปี 66 โดยแบ่งเป็น รายได้จากที่พัก 7.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 78% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนที่เหลืออีก 22% เป็นรายได้อื่น ๆ ที่น่าจะมีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาท

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมและที่พักปี 67 จะฟื้นตัวแซงก่อนโควิดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate: OCC) และราคาห้องพัก (Average Daily Rate: ADR) ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงรายได้จากการจัดงานประชุมสัมมนาและงานอีเว้นท์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • คาดอัตราการเข้าพักของสถานพักแรมทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 70.7% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 70.1% ในปี 62 จากการท่องเที่ยวที่เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 36 ล้านคน และจำนวนวันพักของชาวต่างชาติในไทยเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณ 10.2 สูงกว่าปี 62 (ค่าเฉลี่ยประมาณ 9.26 วัน)

ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักในทุกภูมิภาคเติบโตกว่าปี 62 โดยเฉพาะภาคใต้ที่ได้รับปัจจัยบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ภาคตะวันออกได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าอัตราการเข้าพักจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับปี 62 เนื่องจากในพื้นที่มีจำนวนห้องพักที่ค่อนข้างสูง

  • ราคาห้องพัก (ADR) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 67 ราคาห้องพักจะปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20% จากปี 66 และเพิ่มขึ้น 8.5% จากค่าเฉลี่ยในปี 62 นอกจากนี้ การปรับขึ้นของราคาห้องพักในตลาด ยังเป็นผลจากโรงแรมที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Upscale ขึ้นไป ซึ่งมีราคาห้องพัก 3,000 บาทต่อคืนขึ้นไปด้วย
  • รายได้อื่นๆ เช่น การจัดงานประชุมสัมมนาและงานอีเว้นท์ ฟื้นตัว หนุนรายได้ธุรกิจโรงแรมที่พัก ซึ่งในปีนี้การจัดงานประชุม/สัมมนา ทั้งจากองค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศ รวมถึงการจัดงานระดับนานาชาติ และคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลกมีจำนวนมากขึ้น โดยคาดว่า ในปี 67 รายได้ในส่วนนี้จะมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 28.4% จากปี 66

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของรายได้โรงแรมและที่พักในแต่ละ Segment แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้า ทำเล การแข่งขันและจำนวนห้องพักในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

  • กลุ่มโรงแรมและที่พัก Upscale ขึ้นไป น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งรองรับทั้งตลาดต่างชาติและไทย โดยมีแรงหนุนจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงแรมของนักท่องเที่ยวมากขึ้น จำนวนวันพักที่เพิ่มและราคาห้องพักที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมีรายได้อื่นมาเสริม แต่ไปข้างหน้า การแข่งขันในกลุ่มนี้จะมากเพราะโรงแรมสร้างใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า จำนวนห้องพักทยอยสร้างเสร็จทั่วประเทศจะมีประมาณ 1.5 หมื่นห้อง โดยกว่า 40% เป็นกลุ่ม Upscale ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ
  • กลุ่มโรงแรมและที่พัก Economy และ Midscale (ราคาต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคืน) ฟื้นจำกัดกว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง กลุ่มการเดินทางแบบแบ็คแพ็คเกอร์ (Backpacker) ที่เลือกพักโรงแรมกลุ่มนี้ แต่การขยับราคาห้องพักขึ้นทำได้ไม่มาก ด้วยจำนวนที่พักมีมาก และการแข่งขันจากที่พักทางเลือกอย่างแชร์ริ่ง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ต้องการพำนักระยะยาว

จากข้อมูลของ AirDNA ระบุว่า ณ เดือนเม.ย. 67 จำนวนที่พักให้เช่าในระบบมีประมาณ 8.4 หมื่นห้อง หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนห้องพักสถานพักแรมทั่วประเทศ โดยที่พักให้เช่าในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในรอบ 12 เดือน อยู่ที่ 57-58%

  • โรงแรมและที่พักในเมืองท่องเที่ยวรองได้รับความสนใจมากขึ้น สะท้อนได้จากอัตราการเข้าพัก (OCC) ที่สูงกว่าก่อนโควิด ซึ่งมาจากการที่หลายจังหวัดให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการทำการตลาดจัดกิจกรรมหรืองานอีเว้นท์ และการสร้างแสนด์มาร์คเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยในไตรมาสที่ 1/67 เมืองรองหลายแห่งที่มีอัตราการเข้าพักสูงและเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี 62 ได้แก่ เชียงราย ยะลา นครพนม พะเยา เป็นต้น

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย