สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ม.ค. 2567 พบว่า มีสัญญาณปรับตัวดีจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้า แต่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลง ย้ำต้องติดตามสถานการณ์ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2567 ว่า มีสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ได้แก่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ (เพิ่มขึ้น 2.4%YoY) และส่วนยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (ลดลง 1.8%YoY)
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ม.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (ลดลง 2.7%YoY)
- รายได้เกษตรกรที่แท้จริง เพิ่มขึ้น 0.6%YoY
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.9 จากระดับ 62.0 ในเดือนก่อนหน้า ถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 47 เดือน
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ในเดือน ม.ค. 2567 กลับมีสัญญาณปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
- การลงทุนหมวดเครื่องจักร ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นที่ 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (ลดลง 26.5%YoY)
- การลงทุนหมวดการก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ลดลงที่ 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (ลดลง 7.2%YoY)
- ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ 3.3%YoY
มูลค่าการส่งออกสินค้า ในเดือน ม.ค. 2567 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10%YoY ต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน (ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้น 9.2%) โดยขยายตัวในหลายหมวดสินค้า เช่น เหล็ก ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ฯลฯ โดยหมวดสินค้าที่ส่งออกชะลอตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย
ทั้งนี้ คู่ค้าหลักของไทยที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ตลาดทวีปออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้น 27.2%) อาเซียน-5 (เพิ่มขึ้น 18.1%) และสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้น 13.7%)
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือน ม.ค. 2567
- ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทย 3.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 41.5%YoY ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย
- ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ลดลง -0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ (ลดลง 4.4%YoY) ในหมวดพืชผลสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
- ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.6 จากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลก
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 2567 อยู่ที่ติดลบ 1.11% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2566 อยู่ที่ 61.3% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2567 อยู่ในระดับสูงที่ 221.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง / brandinside