ภาคเอกชนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงก่อนเศรษฐกิจไทยเติบโต โดยมีพื้นฐานที่ดีจากภาคการผลิตและส่งออก แต่การลงทุนใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศลดลงมาก สอดคล้องกับการลงทุนจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมทั้งโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เทรนด์ในอนาคตมาเร็วขึ้น จึงอาจถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อหาโมเดลเศรษฐกิจใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอนำประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานธนาคารโลกมาเล่าให้ท่านผู้อ่านค่ะ

รายงานการวิเคราะห์ภาคเอกชนไทยที่จัดทำโดยธนาคารโลกและบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ที่เผยแพร่ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
มองว่า ภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้
โดยมีปัจจัยสองประการที่จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ได้แก่ 1) การนำเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disruptive technology) มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาคเอกชน ช่วยสร้างตลาดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ รวมถึงช่วยให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ในมิตินี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย อาทิ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ไทยยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตามหลังกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่มาก เช่น เทคโนโลยีการเดินทาง เทคโนโลยี ความบันเทิง และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี บางธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ และฟินเทคกำลังเติบโตอย่างมาก สามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดการเติบโตได้

2) การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น อาหาร
และการเกษตร การก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทรัพยากรให้คุ้มค่ายิ่งขึ้นผ่านการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมถึงจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่ระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรลุมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ภาครัฐและภาคเอกชนในตลาดต่างประเทศกำหนดได้

อย่างไรก็ดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตในระดับสูงเหล่านี้ ไทยจำเป็นต้องแก้ไขข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการลงทุน อาทิ การส่งเสริมการแข่งขันให้เป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันและลดการผูกขาดตลาด ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของภาคเอกชนในการสร้างนวัตกรรม การขจัดข้อจำกัดในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งในแง่ของเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงมายาวนาน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และดึงดูดเม็ดเงินได้ดี เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย รวมถึงการเอื้อให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเฉพาะทักษะทางด้านนวัตกรรม เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะระดับกลางถึงล่าง ขณะที่เอกชนต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น รวมถึงการลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ดังนั้น หากไทยจะเข้าถึงโอกาสการเติบโตจะต้องแก้ไขข้อจำกัดสำคัญเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย แต่เพื่อก้าวไปข้างหน้า ไทยจะต้องแปลงวิกฤติดังกล่าวให้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่จะต้องอาศัยทั้งนวัตกรรมและความรู้สมัยใหม่และที่สำคัญก็ต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการร่วมมือกันปฏิรูปให้สำเร็จจากทุกภาคส่วนด้วย

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์