กรมธนารักษ์เตรียมประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 เริ่มวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ซึ่งราคาเฉลี่ยสูงขึ้น 8% ส่วนพื้นที่ EEC ราคาจะปรับเพิ่มขึ้น 20-30% ยันถึงเวลาที่เหมาะสมในการปรับราคาประเมิน เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ยอมรับอาจกระทบภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ยืนยันว่าจะมีการประกาศใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่ของปี 2566-2569 เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2566 เพราะประเมินว่าขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์ที่เหมาะสมดีแล้ว โดยเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดก็คลี่คลาย มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ จึงไม่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีก
ในส่วนของภาพรวมราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ปีหน้า จะมีมูลค่าปรับขึ้นเฉลี่ย 7-8% ซึ่งราคาประเมินสูงสุดยังเป็นพื้นที่ทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ
“ปกติบัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่จะมีการประกาศทบทวนใหม่ทุกๆ 4 ปี แต่ราคาประเมินที่ใช้ในปีหน้าจะเป็นราคาที่ประเมินไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน เพราะปีที่แล้วมีการเลื่อนใช้จากโควิด จึงไม่ได้มีการทบทวนใหม่” ประภาศกล่าว
พร้อมประเมินใหม่หากราคาจริงสูงกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้หากพื้นที่มีการพัฒนาไปมาก และราคาประเมินที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินประจำจังหวัดก็มีอำนาจพิจารณาทบทวนหรือปรับเพิ่มราคาประเมินเป็นรายแปลงได้เอง โดยอิงจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น หากมีสะพานหรือถนนใหม่ตัดผ่าน รวมถึงมีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ทางด่วนขึ้นมา แต่ละจังหวัดก็มีอำนาจปรับราคาประเมินใหม่ได้ตลอดเวลา
อนึ่ง หากมีการปรับใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ในปี 2566 อาจจะส่งผลให้ประชาชนที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะการเก็บภาษีที่ดินจะใช้ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์มาเป็นฐานประเมินในการคำนวณภาษี ส่วนจะมีมาตรการบรรเทาภาระผู้เสียหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา
ปัจจุบัน กรมธนารักษ์มีการประเมินราคาที่ดินแบ่งทั้งหมดเป็น 33 ล้านแปลง โดยภาพรวมทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8.9% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับขึ้นประมาณ 3% และต่างจังหวัดประมาณ 8% ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 มกราคม 2566 จะบังคับใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 หลังเลื่อนใช้ 1 ปี เพื่อลดภาระประชาชนผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปี 2565 เป็นปีแรก เก็บอัตรา 100% และค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ โดยภาพรวมทั้งประเทศราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% สูงสุดยังเป็นพื้นที่ทำเลกลางเมืองแนวรถไฟฟ้า
“ราคาประเมินปี 2566 จะยังไม่มีปรับใหม่ แต่หากพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจทบทวนราคาใหม่ในระหว่างรอบปี เช่น สยามสแควร์ที่ราคาตลาดอยู่ที่ตารางวาละ 3.5 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่กรมประเมินอยู่ที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่เป็นราคาเฉพาะพื้นที่ ถ้าปรับต้องออกประกาศใหม่ และต้องหารือกรุงเทพมหานครด้วย เนื่องจากเป็นผู้เก็บภาษีที่ดิน ส่วนภาษีลาภลอย หากจะมีการเดินหน้าคงต้องกลับมาดูราคาประเมินใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมเช่นกัน” ประภาศกล่าว
‘สีลม-เพลินจิต’ แพงสุดในกรุงเทพฯ
ขณะที่ ฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการกองประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์เปิดเผยว่า ราคาประเมินใหม่ในภาพรวมทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับขึ้นประมาณ 3% และต่างจังหวัดประมาณ 8% ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยราคาสูงสุดอยู่พื้นที่กรุงเทพฯ ราคา 1 ล้านบาท/ตารางวา (ตร.ว.) ได้แก่ ถนนสีลม เพลินจิต วิทยุ พระรามที่ 1 (บริเวณหน้าสยามสแควร์ถึงถนนเพลินจิต) รองลงมา ถนนสุขุมวิท 750,000 บาท/ตร.ว. ถนนรัชดาภิเษก 450,000 บาท/ตร.ว. ถนนเพชรบุรี 300,000 บาท/ตร.ว. และถนนพหลโยธิน 250,000 บาท/ตร.ว.
ส่วนต่างจังหวัดสูงสุดอยู่ใน 3 จังหวัด พื้นที่ EEC ส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น จังหวัดชลบุรี ปรับขึ้น 42.83% ราคาสูงสุดอยู่ถนนเลียบหาดพัทยา อำเภอบางละมุง 220,000 บาท/ตร.ว. ถนนเลียบหาดพัทยา 200,000-220,000 บาท/ตร.ว. จังหวัดระยอง ปรับขึ้น 7.49% สูงสุดถนนสุขุมวิท อำเภอเมืองระยอง 100,000 บาท/ตร.ว. ถนน 3574 ระยอง-บ้านค่าย 2,500-60,000 บาท/ตร.ว. ส่วน จังหวัดฉะเชิงเทรา ปรับขึ้น 1.53% สูงสุดถนนมหาจักรพรรดิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา 50,000 บาท/ตร.ว. ถนน 304 (สุวินทวงศ์) 3,500-50,000 บาท/ตร.ว.
คณะกรรมการฯ ยังขอยืดเวลาเว้นภาษี
ด้าน อิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ บริษัท กานดาพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และในฐานะประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงมหาดไทยจะเลื่อนเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2565 เก็บ 100% ออกไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนั้น จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนภาคธุรกิจได้เพียงเล็กน้อย โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงจุดยืนเดิมและจะทำหนังสือถึงภาครัฐอีกครั้ง เพื่อขอบรรเทาภาระภาษีที่ดินในปี 2566 ให้เก็บเป็นขั้นบันได เช่น 50% หรือ 75% และให้ผ่อนชำระได้มากกว่า 3 เดือน และไม่มีเบี้ยปรับ
อนึ่ง หากกรมธนารักษ์ใช้ราคาประเมินใหม่ในปี 2566 จะทำให้ผู้เสียภาษีที่ดินมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งเสียอัตรา 100% และฐานภาษีที่เพิ่มขึ้นตามราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ ผลจัดเก็บภาษีที่ดินของปี 2565 ล่าสุด มียอดเก็บได้แล้วกว่า 2 พันล้านบาท และมีภาคธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ เช่น โรงแรม รวมถึงประชาชน ยื่นขอผ่อนชำระจำนวนมาก