กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้จากการให้บริการหลักเติบโตร้อยละ 3 จากปีก่อน ผลักดันรายได้จากการให้บริการรวมเพิ่มขึ้นเป็น 107.2 พันล้านบาท และรายได้รวมเป็น 138.2 พันล้านบาทในปี 2563 แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพเศรษฐกิจในประเทศ ธุรกิจโทรคมนาคมหลักเติบโตเหนืออุตสาหกรรม โดยรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โตร้อยละ 3 จากปีก่อน ธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มสูงสุด 390,000 ราย ขณะที่รายได้จากแพลตฟอร์มและบริการด้านดิจิทัลเติบโตต่อเนื่องในอัตราแบบเลขสองหลัก รวมทั้งการให้ความสำคัญกับคุณภาพการขายและการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ EBITDA ในปี 2563 เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 18 จากปีก่อนเป็น 37.2 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1.8 พันล้านบาทในปี 2563 โดยเมื่อรวมผลกระทบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS16) EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากปีก่อนเป็น 52.7 พันล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ ความโดดเด่นของกลุ่มทรูที่มีระบบนิเวศดิจิทัลและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ครบวงจร ผนวกกับจุดแข็งทางด้านนวัตกรรม เครือข่ายคุณภาพและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนองค์กรพร้อมเสริมการทำตลาดรูปแบบใหม่ รวมทั้งความร่วมมือด้านช่องทางการขายทั่วประเทศกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานสำคัญที่ส่งเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี 2563 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.3 พันล้านบาท (หรือ 0.07 บาทต่อหุ้น) คงอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ในระดับเดียวกับปีก่อนหน้า โดยจะนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้
คุณยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ปี 2563 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มทรูยังคงเติบโตเหนืออุตสาหกรรม มี EBITDA เติบโตในอัตราแบบเลขสองหลัก รายได้และฐานผู้ใช้บริการเติบโตต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมที่มีรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งธุรกิจบรอดแบนด์ก็มีรายได้เติบโตและฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดเช่นกัน นอกจากนี้ แพลตฟอร์มคุณภาพและระบบนิเวศทางธุรกิจที่ครบวงจรของกลุ่มทรูยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คลาวด์โซลูชั่นและวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล ทำให้กลุ่มทรูเข้าใจและสามารถให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้อย่างตรงใจโดยเฉพาะในยุค New Normal นอกจากนี้ กลุ่มทรูยังได้เพิ่มช่องทางในการบริการทั้งรูปแบบออนไลน์และ self-service ตลอดจนผสานความร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้สูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มทรูจะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลและเครือข่ายโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครือข่าย 5G ตลอดจนการมุ่งสู่ช่องทางการทำตลาดรูปแบบใหม่ ที่จะยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า ในขณะเดียวกันยังคงมุ่งเน้นปรับโครงสร้างต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่ม productivity ทั่วทั้งองค์กร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่ม margin และผลกำไรให้แก่กลุ่มทรูได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องต่อไป”
ทรูมูฟ เอช ยังคงมีรายได้จากการให้บริการที่เติบโตเหนืออุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนเป็น 80.1 พันล้านบาทในปี 2563 สวนทางกับอุตสาหกรรมที่รายได้รวมของผู้ให้บริการรายอื่นลดลงร้อยละ 6 จากปีก่อน ผลประกอบการที่แข็งแกร่งนี้เป็นผลมาจากกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนที่ทั้งรายได้และฐานผู้ใช้บริการเติบโตในอัตราแบบเลขสองหลัก ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัวโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินรวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงมาโดยตลอด ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 541 พันรายในไตรมาส 4 ขยายฐานผู้ใช้บริการรวมเป็น 30.6 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน 20.9 ล้านรายและระบบรายเดือน 9.7 ล้านราย ด้วยจุดแข็งของทรูมูฟ เอชในด้านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G ที่ครอบคลุมและครบครันทั้ง 7 ย่านคลื่นความถี่ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและการันตีด้วยรางวัลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมือถือที่ดีที่สุดจาก nPerf ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 อีกทั้งคอนเทนต์คุณภาพและสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า ตลอดจนการทำการตลาดในรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมทั้งพันธมิตรช่องทางการขายและจัดจำหน่ายทั่วประเทศ จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง พร้อมรองรับกลุ่มลูกค้า 5G และกลุ่มลูกค้าพรีเมียมมาใช้บริการทรูมูฟ เอช มากยิ่งขึ้น
ทรูออนไลน์ คงความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งด้านรายได้และฐานผู้ใช้บริการ โดยมีรายได้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปีก่อน เป็น 27.1 พันล้านบาทในปี 2563 พร้อมจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิที่เติบโตสูงเหนืออุตสาหกรรมจำนวน 390,000 รายในปี 2563 ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ล้านราย หนุนโดยการขยายโครงข่ายไฟเบอร์และแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 Gbps ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทรูออนไลน์ เดินหน้าให้บริการด้วยเครือข่ายคุณภาพสูง การันตีด้วยสองรางวัลจาก nPerf ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านที่ดีที่สุดของไทย และในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ที่ดีที่สุด พร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้ง True Gigatex Fiber Router เทคโนโลยี Band Steering และการ up-sell ผ่าน Mesh WiFi และแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ร่วมกับ TrueID TV จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทรูออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นตามวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ ทั้งการทำงานจากบ้าน เรียนออนไลน์และรับชมความบันเทิงที่บ้าน
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 10.7 พันล้านบาทใน ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม รวมถึงการเลื่อนการจัดกิจกรรมอีเว้นท์และกีฬา ทำให้ทั้งรายได้และต้นทุนที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการของทรูวิชั่นส์เริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หนุนโดยรายได้โฆษณาที่เพิ่มขึ้นและกิจกรรมที่เริ่มทยอยกลับเข้ามา ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์จะมุ่งสรรหาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ พร้อมปรับตัวสู่ช่องทางดิจิทัลที่หลากหลายและนำเสนอแพ็กเกจที่ตอบโจทย์พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคใหม่นี้ได้อย่างตรงจุด เพื่อสร้างรายได้และขยายฐานลูกค้าเป็น 3.9 ล้านราย ณ สิ้นปี 2563
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของกลุ่มทรู ด้วยบริการและแพลตฟอร์มคุณภาพ อย่าง ทรูไอดี ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดรับชมคอนเทนต์วิดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยสูงถึง 256 ล้านครั้งต่อเดือนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 รวมเป็นยอดรับชม 2.2 พันล้านครั้งของทั้งปี ซึ่งถือเป็นการเติบโตสูงถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดจำนวนการซื้อคอนเทนต์เพื่อรับชมภายในแอปพลิเคชันยังพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 400,000 ครั้งในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ บริการโทรและแชตฟรีภายในแอปพลิเคชันยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานผู้ใช้งานสูงถึง 1.12 ล้านรายในปี 2563 สำหรับแพลตฟอร์มบนจอโทรทัศน์ กล่องทรูไอดี ทีวี ได้ไต่ระดับไปอีกขั้น ด้วยยอดขายสูงถึง 2.1 ล้านกล่อง โดยทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ยอดสมัครรับชมคอนเทนต์ดิจิทัลและรายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในด้าน Online Station แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านเกมมิ่งและเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์อันดับหนึ่งของไทย มียอดรับชมคอนเทนต์ในทุกแพลตฟอร์มรวมสูงถึง 180 ล้านครั้ง โดย 33 ล้านครั้งมาจากยอดรับชมคอนเทนต์ออริจินัล สำหรับด้านลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน ได้ยกระดับโซลูชันที่ให้บริการและเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ใช้บริการได้แล้วกว่า 380,000 อุปกรณ์ ณ สิ้นปี 2563 และได้เปิดตัว Digital Guest Solution แพลตฟอร์มที่ปฏิบัติการบนคลาวด์ ที่มาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ให้เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อสำหรับผู้ให้บริการพื้นที่อาคารในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และเครือโรงพยาบาล เป็นต้น
หมายเหตุ: รายได้จากการให้บริการหลัก ไม่รวมรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติของธุรกิจหลัก อาทิ บริการ call center การทำสัญญากับภาคธุรกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ ธุรกิจบันเทิงและรายได้อื่น
Cr.TRUE