“ทรู” ชูประเด็นรักษ์โลก ผ่านยูนิฟอร์มจากขวดพลาสติก

คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการเปลี่ยนยูนิฟอร์มว่าต้องการให้ทรูช็อปเป็น experience destinationและอยากให้พนักงานของเรามีinteractive กับลูกค้าด้วย เพราะว่าชีวิตที่เป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของคนมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ในมุมของแบรนด์ทรูจึงต้องการสยายปีกให้มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน

“ทรูเลือกหยิบเรื่องของพลาสติกเหลือใช้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องความยั่งยืน เพราะปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรกำลังให้ความสำคัญและถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มของพนักงานในช็อปแล้ว หลังจากเปลี่ยนล่าสุดเมื่อ 4 ปีก่อน จึงเกิดไอเดียทำเป็นเสื้อใหม่ขึ้นมาจากวัสดุพลาสติกเหลือใช้ ผสมกับเส้นใยฝ้ายธรรมชาติที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทย ภายใต้แนวคิด From waste to wear ทั้งยังเป็นการดำเนินต่อเนื่องจากการประกาศยกเลิกใช้ถุงพลาสติกในทรูช็อป และนำถุงกระดาษที่ผลิตจากกระดาษคราฟต์รีไซเคิลมาให้บริการทดแทนนำร่องมาตั้งแต่ปี 2562”

“ความพิเศษของการเปลี่ยนยูนิฟอร์มครั้งนี้ โชว์จุดเด่นด้วยการนำเทคโนโลยี AR เข้ามาใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น true 5G AR ซึ่งเป็นแอปที่มีลูกเล่นหลากหลาย ทั้งในเรื่องการถ่ายภาพ รวมถึงให้ลูกค้าทรูเข้าถึงสิทธิประโยชน์มากมาย เพราะแค่ส่องโลโก้ร้านผ่านแอป หรือส่องตัวเข็มกลัด AR ที่ติดอยู่บนยูนิฟอร์มก็จะได้ทั้งคำแนะนำบริการ ส่วนลดสินค้าและบริการจากร้านค้าที่ร่วมรายการ หรือสามารถแลกเป็นส่วนลดสินค้าและบริการในเครือทรูได้”

“ทั้งนั้น เพื่อต้องการจะสื่อถึงการเป็นแบรนด์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่มีปณิธานและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะการทำแบรนด์ยุคสมัยนี้กับเรื่อง sustainability เป็นเรื่องเดียวกัน ผมมองว่าทรูเป็นรายแรก ๆ ที่ชี้นำเรื่อง agenda ความยั่งยืนมาปรับใช้ในองค์กรตั้งแต่สมัยที่เรารีแบรนด์จากเทเลคอมเอเชียมาเป็นทรูวันแรก จึงส่งผลให้เราขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ ของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือDJSI (Dow Jones SustainabilityIndices) ที่เปรียบเสมือนเวทีแข่งโอลิมปิกความยั่งยืนของโลก ที่จะเป็นตัวชี้ว่าในกระบวนการธุรกิจของทั้งหมดต้องประเมินผลได้และทำด้วยเนื้อแท้”

คุณโอลิเวอร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทรูพยายามขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนผ่านนวัตกรรมจนออกมาเป็นผลงานหลากหลายชิ้น โดยมี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้บริหารที่ดูแลด้านนี้โดยตรง พร้อมกับทีมนวัตกรอีกเป็นร้อย ๆ คน เช่น แอปพลิเคชั่น We Growสนับสนุนให้ปลูกต้นไม้ และรู้จักการดูแลรักษาต้นไม้ ที่นำไปใช้ทั้งเครือ ซี.พี. รวมถึงโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning System) หรือแม้กระทั่งป้ายแทร็กติด GPS ตามหาคนหาย หรือแอปกระตุ้นประสาทสำหรับเด็กออทิสติกเพื่อให้สื่อสารกับพ่อแม่ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งด้านความยั่งยืนที่ทรูผลักดัน ไม่ใช่แค่เพื่อองค์กรฝ่ายเดียวแต่เพื่อสังคมด้วย

“นอกจากนั้น ยังมีโครงการสนับสนุนเด็กออทิสติกด้วยการฝึกวิชาชีพของเด็กกลุ่มนี้มากว่า 8 ปี ในการพัฒนาศักยภาพให้ใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ เพราะถ้าหากศึกษาเด็กกลุ่มนี้จะพบว่าพวกเขาคือเด็กอัจฉริยะ มีความเก่งหลายด้าน โดยเฉพาะศิลปะ อย่างที่ร้านทรู คอฟฟี่จะรับเด็กออทิสติกมาเป็นบาริสต้า อีกทั้งยังเคยสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ทำงานศิลปะ วาดภาพ และนำภาพมาจัดตกแต่งภายในร้านด้วย

ดังนั้นถ้ามองในแง่ของปณิธานความยั่งยืน คิดว่าความยั่งยืนไม่ใช่การอยู่ได้นานแต่เป็นการอยู่อย่างไรให้มีประโยชน์ จึงเป็นเหตุผลที่เรานำแนวคิดตรงนี้มาเป็นกลยุทธ์ว่า ถ้าหากความยั่งยืนถูกนำมาสร้างเป็นเสื้อผ้าที่มีความน่าสนใจ ใส่สบาย ดีไซน์รายละเอียดของแบรนด์ได้ดีจะทำให้พนักงานของเรามีแนวคิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์”

“เราเริ่มที่ทรู แฟล็กชิป สโตร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแห่งแรก และจะขยายไปยังทรู ช็อป ครบ 400 สาขา ครอบคลุมพนักงานกว่า 3,000 คน ภายในปี 2564 เนื่องจากต้องใช้เวลาในการผลิตแต่ละตัวอย่างพิถีพิถัน และจะต้องออกแบบให้ตรงกับลักษณะงานของพนักงานเพราะทำงาน 9 ชม.ดังนั้น ต้องหาเทคนิคให้เสื้อมีความทนต่อสภาพอากาศ เวลาไปหาดีไซเนอร์ส่วนใหญ่จะให้โจทย์เป็นลักษณะภายนอก เช่น แนวสตรีต แนวเท่ ฯลฯ แต่ผมให้โจทย์ดีไซเนอร์เรื่องความยั่งยืน”

คุณปรีดากร เมธเกรียงชัยแห่ง RAMS (The Personal Style Creatives) ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบยูนิฟอร์มทรู กล่าวว่า โจทย์ที่ได้รับจากทรูคือ “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เรื่องของดีไซน์ ซึ่ง RAMS เป็นร้านสูทสำหรับสุภาพบุรุษ ดังนั้น โจทย์ที่ได้จึงถือเป็นเรื่องใหม่ เราจึงคิดนำเส้นด้ายจากพลาสติกมาทำเป็นเสื้อ โดยรับเส้นด้ายมาจากบริษัทที่รับขวดพลาสติกไปรีไซเคิล แล้วนำมาทอร่วมกับเส้นใย cotton ที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ 100% ที่ผลิตจากฝ้าย

“เสื้อหนึ่งตัวคาดว่าใช้พลาสติกประมาณ 3-6 ขวด ถือเป็นกระบวนการทำงานที่เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องจับวัสดุต่าง ๆ มาแมตชิ่งให้เข้ากันเพื่อให้มีคุณภาพ มีความคงทน สวยงาม พร้อมสกรีนโลโก้ true ไล่เฉดสีด้วยเทคนิคพิเศษทีละตัว ผนวกกับลายกราฟิกที่เรียงร้อยเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคดิจิทัลที่ไร้รอยต่อ เพราะตอนนี้ความนิยมของกระแสรักษ์โลกเป็นเทรนด์ของแบรนด์เนมทั่วโลกต่างหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

“ยกตัวอย่างแบรนด์ PRADA ที่ออกกระเป๋าคอลเลHกชั่นพิเศษผลิตจากผ้าไนลอน และวัสดุเหลือใช้ เราเชื่อว่าปัจจุบันในทุกธุรกิจต่างหันมามองเรื่อง sustainability กันหมดแล้ว แม้แต่คนทั่วไปก็เริ่มตระหนักในการเลือกใช้บริการธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและโลก รวมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้แก้วน้ำส่วนตัวแยกขยะ ฯลฯ เช่นเดียวกับวงการแฟชั่นในประเทศไทยก็เริ่มหันมาให้ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าวัสดุรีไซเคิลมักจะมีต้นทุนสูงกว่าวัสดุธรรมดาทั่วไป”

“ดังนั้น จึงต้องให้เวลากับการพัฒนาสักระยะหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและเชื่อว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะช่วยเราให้มีวัตถุดิบที่ดีและราคาถูกลง ดังนั้น การร่วมออกแบบยูนิฟอร์มใหม่กับทรูจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องของความยั่งยืนที่มาผสมผสานกับแฟชั่นของ RAMS อย่างลงตัว”

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ