รู้หรือไม่! คนไทยเพิ่งรู้จักและมีโอกาสในการบริโภคนมวัวอย่างแพร่หลายเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง
“นม” และผลิตภัณฑ์จากนม ถือเป็นหนึ่งในอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่อยู่วัยเจริญเติบโต ทำให้เด็กไทยยุคใหม่มีร่างกายกำยำสูงใหญ่ต่างจากยุคเก่าก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
วัฒนธรรมการบริโภคนมของคนไทยเริ่มขึ้นภายหลังปี 2500 ที่อุตสาหกรรมผลิตนมในประเทศก่อตัวขึ้น และพัฒนาจนถึงปัจจุบันซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท จากการบริโภคภายในประเทศเฉลี่ยคนละ 22 ลิตรต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับไต้หวันที่ 77 ลิตรต่อปี ญี่ปุ่น 36 ลิตรต่อปี และสิงคโปร์ 33 ลิตรต่อปี ในทางกลับกัน สถานการณ์การเลี้ยงโคนมของไทยกลับอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจากปัจจัยลบที่ต่างถาโถมเข้ามา
True Blog ได้มีโอกาสพบกับเกษตรกรรุ่นใหม่อย่าง ธีรพัฒน์ มานะกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของมานะกุลฟาร์ม ที่ีได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง “ทรูฟาร์มคาว” เข้ามาปรับใช้ในกิจการ ลดภาระต้นทุน-ความเสี่ยง เพิ่มผลิตผลและคุณภาพของน้ำนมให้เทียบชั้นโลกตะวันตกได้
ทำความเข้าใจการทำฟาร์มโคนมเบื้องต้น
ธีรพัฒน์ เล่าว่า มานะกุลฟาร์มเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแบบผสมผสานขนาด 51 ไร่ บนพื้นที่ อ.วังม่วง จ.สระบุรี ทั้งฟาร์มโคนม บ่อเลี้ยงปลาดุก และสวนดอกไม้ โดยเริ่มต้นบุกเบิกมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ สังเวียน มานะกุล นักเรียนยุคเริ่มต้นขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อสค. หน่วยงานส่งเสริมการเลี้ยงโคนมที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมโคนมไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากสายพระเนตรอันยาวไกลต่อกิจการโคนมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ระหว่างการเสด็จนิวัตรประเทศเดนมาร์ก ในปี 2503
การเลี้ยงโคนมในสมัยนั้น ถือเป็นอาชีพด้านการเกษตรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็นับว่าเป็นเกษตรกรรมที่มีความมั่นคง เนื่องจากมีรายได้และตลาดรับซื้อที่แน่นอน เมื่อเทียบกับประเภทอื่น เนื่องจากมีผลผลิตทุกวัน ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด ภายใต้เงื่อนไขปริมาณและคุณภาพของน้ำนมที่ตลาดกำหนด ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องมีวินัย เอาใจใส่ และขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ
ธีรพัฒน์อธิบายต่อว่า การทำฟาร์มโคนมให้ประสบความสำเร็จได้นั้น มีตัวชี้วัดสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ปริมาณน้ำนม คุณภาพของน้ำนม และผลผลิตโคนมจากการผสมพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางชีวภาพและกายภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธุ์โคนม อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับต้นทุนอาหารและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากโรคระบาด ด้วยเหตุนี้ ‘การบริหารจัดการที่ดี’ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำฟาร์มโคนมในไทย
สำหรับปริมาณน้ำนม โคนมพันธุ์ดีจะให้น้ำนมในปริมาณมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในยุโรป ซึ่งมีภูมิอากาศที่หนาวเย็นอย่างโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ที่ให้ปริมาณน้ำนมเฉลี่ย 40 ลิตรต่อวัน แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในประเทศไทยที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น ทำให้โคมีความเครียดได้ง่ายและปริมาณน้ำนมที่ออกมาน้อย และอาจไม่คุ้มทุนที่ลงไป ทั้งนี้ ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยที่ฟาร์มโคนมไทยทำได้อยู่ที่ระดับ 12 ลิตรต่อวันเท่านั้น
ในส่วนคุณภาพน้ำนมนั้น จะใช้เกณฑ์ปริมาณเซลล์โซมาติกและแบคทีเรียในน้ำนมดิบ รวมถึงปริมาณไขมันและของแข็งรวม ซึ่ง “อาหาร” ถือเป็นตัวแปรหลักที่ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต และมีสัดส่วนถึง 60% ของต้นทุนรวม ด้วยโคนมเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง การจัดหาอาหารจึงมีรายละเอียดมาก โดยประกอบด้วยอาหารหยาบ (พืชที่มีเส้นใยมาก เช่น หญ้า ต้นข้าวโพด เป็นต้น) และอาหารข้น ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เมล็ดข้าวโพดเป็นส่วนผสมหลัก ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาหารสัตว์มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่ออัตรากำไรที่ลดลง นอกจากนี้ “โรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ในสัตว์” เช่น โรคปากเท้าเปื่อย และโรคลัมปีสกิน ยังถือเป็นอีกอุปสรรคที่เกษตรกรฟาร์มโคนมเผชิญอยู่ทุกปี ซึ่งส่งผลต่อน้ำนมโดยตรงอีกเช่นกัน
ต้นทุนพุ่ง ขาดแคลนแรงงาน อากาศเปลี่ยนแปลง
นอกจากน้ำนมที่ถือเป็นผลผลิตจากโคนมโดยตรงแล้ว “ลูกวัว” ยังถือเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่เกษตรกรต้องให้สำคัญ เพราะเมื่อโคนมให้นมอายุมากขึ้นหรือสุขภาพไม่แข็งแรง (กรณีของมานะกุลฟาร์มเมื่อโคมีอายุขัยราว 6 ปี) แม่วัวจะถูกคัดออกจากฝูง เพื่อให้ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยของคอกสูงขึ้น ส่งผลต่อผลกำไรที่มากขึ้น ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องจัดหาโคนมรุ่นใหม่มาทดแทน
“การตรวจพฤติกรรมจับสัด” จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการผสมติดของโคนม เพราะหากล่วงเลยระยะจับสัด เพื่อนำมาผสมเทียมแล้ว อัตราการผสมติดก็จะน้อยลง เกษตรกรต้องรอรอบจับสัดใหม่อีก 21 วัน ทั้งนี้ “การจับสัด” มักใช้แรงงานมนุษย์ในการสังเกตพฤติกรรม เช่น การยืนนิ่ง ส่งเสียงร้องผิดปกติ ปัสสาวะถี่ ซึ่งจะต้องสังเกตทุกวันในช่วงเช้าและใกล้ค่ำ เพราะมีอากาศเย็น สัตว์ไม่เครียด จากนั้นจึงทำการจดบันทึก อย่างไรก็ตาม การจับสัดให้แม่นยำจะต้องอาศัยความชำนาญ แต่ด้วยลักษณะงานที่ต้องเกาะติดชีวิตโคนมเกือบ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหาร การดูแลโรงเลี้ยงให้สะอาด การพาโคนมเข้าคอกรีด การทำให้สัตว์อารมณ์ดี ทำให้แรงจูงใจต่อแรงงานในฟาร์มโคนมมีน้อยลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการขึ้นค่าแรงแล้วก็ตาม
ด้วยนานาปัญหาที่ฟาร์มโคนมต่างเผชิญ มานะกุลฟาร์มจึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาผ่านการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่รุ่นที่ 2 แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนมารุ่นที่ 3 โดย ธีระพัฒน์ ในวัย 31 ปี ได้หันหลังให้กับเมืองกรุงอันแสนวุ่นวาย ที่พ่วงด้วยประสบการณ์ 10 ปีจากงานที่ปรึกษาธุรกิจก่อสร้าง มุ่งหน้ากลับความสู่ความสงบที่บ้านเกิดที่สระบุรี พร้อมนำความรู้มาแก้ไขปัญหาเชิงระบบภายในฟาร์มโคนม
“ในช่วงที่กลับมารับหน้าที่ผู้จัดการมานะกุลฟาร์ม ผมรับทราบถึงแนวโน้มปัญหาที่ฟาร์มกำลังเผชิญ โชคดีว่า ตอนนั้นได้คุยกับสัตวบาล จนพามารู้จักกับ ‘ทรูฟาร์มคาว’ ที่นำเทคโนโลยีต้นตำรับจากประเทศอิสราเอล มาเป็นเครื่องมือใช้จัดการฟาร์มโคนมควบคู่กับการใช้คน ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการสังเกตพฤติกรรม ไม่เปลืองแรงงาน คุ้มค่าการลงทุน” ธีรพัฒน์ กล่าว
เทคโนโลยีดิจิทัล: ทางออกเกษตรโคนมท่ามกลางปัจจัยลบรุมเร้า
คงพัฒน์ ประสารทอง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Farm ให้ข้อมูลว่า ทรูฟาร์มคาว คือระบบจัดการฟาร์มโคอย่างแม่นยำแบบครบวงจร โดยทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับ MSD Animal Health นำนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี มาให้บริการสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย ใช้ในการติดตามพฤติกรรมรายตัวเป็นของโคตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งพฤติกรรมการเคี้ยวเอื้อง การกิน และการเคลื่อนไหว ด้วยเซนเซอร์ที่ติดอยู่กับสัตว์ในรูปแบบ “สร้อยคอ” วัดแต่ละพฤติกรรมเป็นจำนวนนาที แล้วนำมาประมวลผลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อแจ้งเตือนผู้เลี้ยงเมื่อโคมีสุขภาพผิดปกติ และเมื่อโคมีอาการเป็นสัด ทำให้ลดการสูญเสียโคที่ล้มตายจากการรักษาไม่ทัน ลดค่าใช้จ่ายการกินเปล่าของโคจากการลดวันท้องว่าง รวมถึงทำให้เจ้าของฟาร์มสามารถขยายฝูงได้โดยไม่ต้องกังวลข้อจำกัดด้านแรงงาน
นอกจากนี้ ทรูฟาร์มคาว ยังรองรับการบันทึกข้อมูลกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโคแต่ละตัว อาทิเช่น การผสมเทียม การตรวจท้อง และการให้วัคซีน เป็นต้น อีกทั้งยังมีรายงานการจัดการโครายกลุ่มด้านภาวะเครียดจากความร้อน (Heat stress) รวมถึงรายงานสรุปประสิทธิภาพด้านการจัดการฟาร์ม เช่น อัตราการผสมติด จำนวนหลอดน้ำเชื้อที่ใช้ต่อการผสมติด และวันท้องว่าง เป็นต้น เปรียบเสมือนการมีเลขาประจำฟาร์ม ที่ทำหน้าที่ทั้งเก็บข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงานให้เจ้าของฟาร์มโคนม สามารถใช้ตัดสินใจบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างแม่นยำและครบวงจร เพิ่มผลตอบแทนในการทำฟาร์มด้วยการใช้ข้อมูล
คงพัฒน์ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมโคนมประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากความท้าทายด้านการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ความเสี่ยงด้านโรคระบาด และต้นทุนในการจัดการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนฟาร์มโคนมได้มีการปรับตัวลดลงกว่า 20% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในอัตราที่สูงกว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทำให้ประสบภาวะขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องจนต้องทำการปิดฟาร์ม นอกจากนี้ ในปี 2568 ไทยมีกำหนดเปิดการค้าเสรี (FTA) ทำให้สมรภูมิการแข่งขันในอุตสาหกรรมโคนมจะเข้าสู่ระดับนานาชาติ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร จึงต้องเร่งผนึกกำลังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน
“แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ไม่น้อย แต่โอกาสสำหรับผู้ที่พร้อมปรับตัวมีอยู่อีกมหาศาล จากแนวโน้มการบริโภคเพื่อสุขภาพที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำนมดิบคุณภาพสูงยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะใช้ทำนมสำหรับผู้สูงอายุ หรือกรีกโยเกิร์ตธรรมชาติ การใช้นวัตกรรมเกษตรแม่นยำระดับโลก จะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยสามารถฝ่าฟันความท้าทายและเพิ่มผลตอบแทนที่ดีได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นเกษตรกรในโลกตะวันตกได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ True Farm ได้กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ ทรูฟาร์มคาว รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.truedigital.com/true-digital-cow หรือเพิ่มเพื่อนได้ทาง Line Official Account “True digital cow”
ที่มา True Blog