ทรูมูฟ เอช ยังคงโดดเด่นเหนืออุตสาหกรรม เป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่รายได้จากการให้บริการสูงขึ้น
กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน รายได้จากการให้บริการในธุรกิจหลักเติบโตร้อยละ 4 ผลักดันรายได้จากการให้บริการรวมให้เติบโตร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้า เป็น 26.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2563 แม้ได้รับผลกระทบเต็มไตรมาสจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้รายได้ทรูวิชั่นส์อ่อนตัวลง พร้อมเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพิ่มการขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นร้อยละ 20 ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช เติบโตเหนืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่มีรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับผู้ให้บริการรายอื่นในอุตสาหกรรมที่รายได้จากการให้บริการหดตัวลงทั้งจากไตรมาสก่อนและปีก่อนหน้า
อีกทั้งมีการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปีก่อนเป็น 9.2 พันล้านบาท หรือ 13.1 พันล้านบาทหากรวมผลกระทบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS16) กลุ่มทรูรายงานกำไรสุทธิประมาณ 1.3 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 และจะมุ่งเน้นการบริหารค่าใช้จ่ายรวมทั้งเพิ่มproductivity ในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างกำไรที่เติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทต่อไป
คุณอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กลุ่มทรูเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งด้าน EBITDA และรายได้จากการให้บริการ โดยเฉพาะทรูมูฟ เอช ที่เติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น แข็งแกร่งจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบทั้งไตรมาสจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทุกบริการของการสื่อสารโทรคมนาคมได้เพิ่มบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนและส่งเสริมวิถีชีวิตแบบใหม่หรือ New Normal ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เติมเต็มพฤติกรรมการทำงานที่บ้านการเรียนระยะไกล การรับชมความบันเทิง และการใช้งานธุรกรรมดิจิทัลได้แบบทุกที่ทุกเวลา
ซึ่งกลุ่มทรูสามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มวิถีชีวิตแบบใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ตรงจุด โดยมุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการนำเสนอบริการด้านดิจิทัลครบวงจร รวมถึงแคมเปญสิทธิประโยชน์หลากหลายที่ช่วยเพิ่มความผูกพันของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ระบบนิเวศและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ครอบคลุมและครบครันของกลุ่มทรู ตลอดจนความร่วมมือกับภาครัฐบาลและภาคธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีคลาวด์และโซลูชันดิจิทัล ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในองค์รวม และเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตให้กับกลุ่มทรู สิ่งเหล่านี้ รวมกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยวางรากฐานการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับธุรกิจของกลุ่มทรู”
คุณสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของกลุ่มทรูในการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและการเพิ่มคุณภาพเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศเห็นผลลัพธ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ทรูมูฟ เอช ยังคงเป็นผู้นำการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับความเป็นผู้นำ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของทรูออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองธุรกิจได้รับการยอมรับจากหลายสถาบัน ทั้งด้านการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมือถือที่ดีที่สุดจาก nPerf ต่อเนื่องสี่ปีซ้อน และยังได้คะแนนสูงสุดจาก OpenSignal ในด้านประสบการณ์การรับชมวิดีโอและความเร็วในการอัปโหลด
รวมถึงตำแหน่งแบรนด์อันดับหนึ่งในใจคนไทยสำหรับปี 2019-2020 ในหมวดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจาก Marketeer ต่อเนื่องเป็นปีที่หก นอกจากนี้ กลุ่มทรูมุ่งยืนหยัดที่จะร่วมนำพาประเทศให้ข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน ผ่านการขยายเครือข่ายสัญญาณ 5G ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตัวเมืองและพื้นที่สำคัญทั่วทั้ง 77 จังหวัดแล้ว การอัปเกรดเทคโนโลยีเป็นไฟเบอร์บรอดแบนด์ และการส่งเสริมด้านโซลูชันดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งแพลตฟอร์มด้านสุขภาพอย่าง Teleclinic และ Vhealth รวมถึงหุ่นยนต์ True5G ที่ปัจจุบันได้ต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น สาธารณสุข ค้าปลีก พลังงาน และภาครัฐบาล เป็นต้น”
ทรูมูฟ เอช เติบโตสูงเหนืออุตสาหกรรมและเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่รายงานการเติบโตของรายได้จากการให้บริการในไตรมาสที่ 2 แม้รายได้ที่เกี่ยวข้องกับบริการโรมมิ่งและนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เต็มไตรมาส โดยรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตร้อยละ 3.3 จากปีก่อนและร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 20.2 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 ขณะที่ผู้ให้บริการรายใหญ่รายอื่นในอุตสาหกรรมมีรายได้จากการให้บริการรวมลดลงร้อยละ 6 จากปีก่อนและลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อนหน้าเครือข่ายคุณภาพสูง ตลอดจนการผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีช่องทางการขายและจัดจำหน่ายทั่วประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันผลประกอบการที่แข็งแกร่งของทรูมูฟ เอช โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนที่ทั้งรายได้และจำนวนผู้ใช้บริการเติบโตในอัตราเลขสองหลักจากปีก่อนหน้า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ฐานผู้ใช้บริการรวมของทรูมูฟ เอช เป็น 30.16 ล้านราย แบ่งเป็น ลูกค้าระบบรายเดือน 9.01 ล้านราย และระบบเติมเงิน 21.15 ล้านราย ทั้งนี้ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น ตลอดจนความต้องการใช้งาน 5G ดาต้าและธุรกรรมดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น จะช่วยส่งเสริมการเติบโตให้กับทรูมูฟ เอชต่อไป
ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและฐานผู้ใช้บริการเติบโตแข็งแกร่งจากความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มการทำงานจากบ้าน การเรียนออนไลน์และความต้องการรับชมคอนเทนต์และความบันเทิงที่บ้าน โดยแพ็กเกจไฟเบอร์บรอดแบนด์และคอนเวอร์เจนซ์ที่ผสานคอนเทนต์คุณภาพผ่าน TrueID TV รวมถึงแคมเปญเพิ่มความสุขให้ลูกค้าด้วยสิทธิประโยชน์พิเศษเมื่อต่อสัญญา ได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาดอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตที่สูงขึ้นในอัตราร้อยละ 5.7 จากปีก่อนและร้อยละ 2.2 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 133 พันราย ในไตรมาส 2 ปี 2563 ขยายฐานลูกค้าบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นเป็น 4.0 ล้านราย ทั้งนี้ ทรูออนไลน์ มุ่งยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าด้วยการเพิ่มความเร็วและปรับเปลี่ยนระดับความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ตรงตามการใช้งาน รวมถึงมีดีไวซ์ที่รองรับแพ็กเกจไฟเบอร์ความเร็วสูง Gigatex Mesh Wifi และลำโพงอัจฉริยะพร้อมผู้ช่วยส่วนตัว Google Nest Mini เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลายและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้กับกลุ่ม นอกจากนี้ ทรูออนไลน์ นำเสนอแพ็กเกจ VLearn สำหรับนิสิต นักศึกษา และ VWork สำหรับกลุ่มคนทำงานรองรับแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ “True Virtual World” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้าและสร้างการเติบโตต่อเนื่องให้กับกลุ่มทรู
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2.6 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เต็มไตรมาส โดยเฉพาะลูกค้าในธุรกิจโรงแรม รวมการจัดงานอีเว้นท์บันเทิงและรายการกีฬาสดต่างๆ ที่ถูกเลื่อนออกไป ส่งผลให้ทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ตลอดจนแพ็กเกจร่วมกับสินค้าและบริการอื่น ๆ ของกลุ่มทรูภายใต้ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ที่เพิ่มมูลค่าด้วยคอนเทนต์คุณภาพและฟังก์ชั่นการใช้งานแบบอินเทอร์แอคทีฟผ่านกล่องไฮบริดมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน รายได้จากเครือข่าย Influencer หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ของธุรกิจออนไลน์สเตชั่นเติบโตสูงขึ้น และน่าจะเติบโตได้สูงต่อไปในอนาคต หนุนโดยวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ซึ่งช่วยเพิ่มความนิยมในการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทรูวิชั่นส์ มีฐานลูกค้าประมาณ 4 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป มุ่งหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของกลุ่มทรูด้วยบริการและแพลตฟอร์มคุณภาพ อย่างทรูไอดีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดผู้สมัครรับชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษเพิ่มกว่า 30,000 ราย ในช่วงที่กลับมาแข่งขันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยระหว่าง 3 เดือนที่ไม่มีการแข่งขัน ทรูไอดียังสามารถเพิ่มจำนวนการใช้บริการต่าง ๆ ถึง 234,000 ครั้ง คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ยอดรับชมวิดิโอต่อเดือนบนทรูไอดียังเติบโตอย่างต่อเนื่องสูงสุดถึง 219 ล้านวิว หรือคิดเป็นร้อยละ 55 จากไตรมาสที่แล้ว นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทรูไอดียังเปิดตัวบริการอีคอมเมิร์ซที่ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานกว่า 828,000 รายและมีผู้สนใจคลิกเข้าชม 3.3 ล้านคลิกต่อเดือน สำหรับแพลตฟอร์มบนจอโทรทัศน์ กล่องทรูไอดี ทีวี เติบโตแข็งแกร่งด้วยยอดรวมสูงถึง 1.4 ล้านกล่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทำให้เป็นผู้ให้บริการกล่องทีวีในระบบแอนดรอยด์ที่มีฐานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นพาร์ทเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับกล่องกูเกิล เนสต์ มินิ ผู้ช่วยอัจฉริยะ ในขณะเดียวกัน ทรูยู แพลตฟอร์มระบบสิทธิประโยชน์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการใช้งานถึง 3.5 ล้านครั้งสำหรับแคมเปญทรูพอยท์ใจป้ำตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยแคมเปญ ทรูแบล็ค แฟมิลี่ ยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน และโอกาสในการเพิ่มยอดขายและการขายพ่วงบริการอื่น ๆ
สำหรับด้านลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน พัฒนาโซลูชันและเพิ่มจำนวนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อและใช้บริการแล้วกว่า 272,000 อุปกรณ์ ณ สิ้นไตรมาส 2 โดยในกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร ได้มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทในเครือซีพี ขยายตลาดด้วยโซลูชัน “True Digital Cow” นวัตกรรมการติดตามพฤติกรรมปศุสัตว์ ที่ช่วยเพิ่มกําลังการผลิตและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรโคนมของไทย โดยเฉพาะเกษตรกรของฟาร์มในเครือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีกำลังการผลิตน้ำนมสูงถึงร้อยละ 25 ของฟาร์มโคนมทั่วประเทศ และสำหรับกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ได้ร่วมมือกับ เคอีกรุ๊ป หนึ่งในผู้นำธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวโซลูชัน Property Integration System ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถจัดการการใช้งานพื้นที่ในบริเวณส่วนกลาง รวมทั้งสามารถจัดการดูแลทั้งในเชิงป้องกันและเชิงรุก นอกจากนี้ ในกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการค้าปลีก ได้เปิดตัว ทรู อีซี่ พิก ที่จะเข้ามาเสริมประสบการณ์แบบ “Grab-and-Go” ให้กับลูกค้า โดยการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยรวบรวม จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ สำหรับตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ยังนำเสนอโซลูชัน Digital AI Density ที่จะช่วยวิเคราะห์ความหนาแน่นของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างอินไซต์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพิ่มประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีก โดยปัจจุบัน กำลังอยู่ในระยะปรับใช้งานกับแม็คโครและเทสโก้ โลตัส รวมถึงในกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสุขภาพและสาธารณสุข โซลูชันในกลุ่ม ทรู วีเฮลธ์ กำลังขยายกลุ่มพันธมิตรไปยังอีก 24 โรงพยาบาล เพื่อนำเสนอบริการคัดกรองและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเบื้องต้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนนัดหมายเข้าพบที่โรงพยาบาล
ในฐานะผู้ขับเคลื่อนการพลิกโฉมธุรกิจด้วยการใช้ข้อมูล กลุ่มธุรกิจ True Analytics ได้นำเสนอโซลูชันที่ล้ำสมัยและหลากหลาย เช่น GeoPulse โซลูชันที่นำเสนออินไซต์การตลาดในแต่ละพื้นที่ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลความหนาแน่นของลูกค้ากับข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกอื่น ๆ เช่น ชนิดสินค้าที่ชื่นชอบ เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินการวางแผนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีโซลูชันอื่น ๆ ที่พร้อมนำเสนอพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ เช่น DigiPulse ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ช่วยให้ธุรกิจสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าใหม่ รักษาลูกค้าที่มีอยู่ หรือเรียนรู้พฤติกรรมออนไลน์ของคนในแต่ละพื้นที่ เพื่อเสริมประสิทธิภาพแคมเปญการตลาด นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้ ยังมีการเปิดตัวโซลูชัน QPulse ที่นำเสนอบริการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดแบบเจาะกลุ่มเฉพาะ ผ่านผลสำรวจออนไลน์ที่จะช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมในกลุ่มฐานลูกค้าที่แบรนด์ต่าง ๆ ต้องการอีกด้วย
Cr:Pr True