กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน รายได้เติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3 และรายได้จากบริการหลักเติบโตร้อยละ 5 จากปีก่อน ในขณะที่ EBITDA เติบโตแข็งแกร่งร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 8.5 พันล้านบาท หลังการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 16 EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 12.2 พันล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating profit) เป็น 2.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้การให้บริการของทรูมูฟ เอช ที่เพิ่มในอัตราร้อยละ 5.2 จากปีก่อน เหนือกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม รวมทั้งมีฐานผู้ใช้บริการรายเดือนเพิ่มขึ้นสุทธิมากกว่า 3 แสนราย สวนทางกับผู้ให้บริการรายอื่นในอุตสาหกรรมที่มีรายได้ลดลงในไตรมาส 1 ปี 2563 ทั้งนี้ กลุ่มทรูจะมุ่งเน้นในการเพิ่มวินัยทางการเงิน บริหารค่าใช้จ่ายและเพิ่ม productivity ในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างกำไรที่เติบโตอย่างยั่งยืนและพร้อมปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจภายใต้ COVID-19 ต่อไป
คุณอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “ไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นอีกช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับการดำเนินธุรกิจเนื่องจากมีผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ในช่วงปลายไตรมาส แต่กลุ่มทรูก็ยังมีผลการดำเนินงานที่ดี มีกำไรจากการดำเนินงานและสร้างการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างต่อเนื่องทั้งด้านรายได้และฐานผู้ใช้บริการรายเดือน สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีรายได้ลดลงจากไตรมาสก่อน ด้วยจุดเด่นด้านเครือข่ายคุณภาพสูงของทรูมูฟ เอช ซึ่งแม้ในช่วงวิกฤตที่มีการใช้งานการสื่อสารที่เพิ่มสูงมาก ทรูมูฟ เอช ยังได้รับการยืนยันจากสถาบันทดสอบคุณภาพระดับโลกอย่าง nPerf ประกาศให้ ทรูมูฟ เอช เป็นเครือข่ายที่ดีที่สุดในประเทศไทยประจำไตรมาส 1 ปี 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของทรูออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการประกาศมาตรการ lock down ในปลายไตรมาส 1 ในขณะเดียวกัน ด้วยความพร้อมของกลุ่มทรู ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นดิจิทัล ทั้งการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และดิจิทัลแพลตฟอร์มที่หลากหลาย อาทิ TrueID, True iService, บริการมะลิผ่าน line ทรูมูฟ เอช การจัดจำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน wemall.com พร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน ตลอดจนการมีพันธมิตรที่มีช่องทางการขายและจัดจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ จึงช่วยผลักดันการเติบโตและลดผลกระทบจากการประกาศปิดร้านค้าต่างๆ แม้ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ โดยกลุ่มทรูเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มการใช้ชีวิตแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ทั้งโซลูชันด้านดิจิทัล ธุรกรรมและการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้วิกฤตครั้งนี้ ช่วงเร่งให้กลุ่มทรูสามารถเติบโตร่วมไปกับการก้าวสู่วิถีชีวิตแบบใหม่หรือ New Normal ด้วยระบบนิเวศและโซลูชันดิจิทัลที่ครอบคลุมและครบครัน”
คุณสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “ในสภาวะวิกฤตที่มีการ Lockdown เช่นนี้ เครือข่ายการสื่อสารจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงปลายไตรมาสแรกมีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตและบริการออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเพื่อการทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน และเพื่อไลฟ์สไตล์ความบันเทิงของผู้ที่อยู่บ้าน ทำให้กลุ่มทรูขยายแบนด์วิดต์เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงจัดสรรทีมงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการเครือข่ายคุณภาพทั่วประเทศ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงบริการได้ตลอดเวลาในภาวะวิกฤตนี้ อีกทั้งกลุ่มทรูยังได้ร่วมมือกับกสทช.ในการให้สิทธิพิเศษกับลูกค้า รับสิทธิ์ใช้งานเน็ตมือถือเพิ่มฟรี 10 GB และเพิ่มสปีดความเร็วบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเป็น 100Mbps รวมถึงสิทธิพิเศษจากกลุ่มทรูสำหรับลูกค้าทรูวิชั่นส์ในการอัพเกรดแพ็กเกจให้สูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มทรูได้พัฒนา “True Virtual World” แพลตฟอร์มใหม่ซึ่งเป็นศูนย์รวมโซลูชันครบวงจร ที่ผสานเทคโนโลยีคลาวด์จากทรู เพื่อเป็นทางออกให้กับคนไทยใช้งานฟรีในช่วงวิกฤตที่ต้องใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งทำงานที่บ้าน การเรียนรู้ออนไลน์และความบันเทิง อีกทั้งยังได้ขยายความร่วมมือไปในภาคสาธารณสุข ด้วยการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งรวมถึงเครือข่ายและดีไวซ์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G หุ่นยนต์โรโบติก “True5G Connect & Care Tech” แพลตฟอร์มดิจิทัล Teleclinic บริการ “Virtual COVID-19 Clinic” และ VHealth เพื่อช่วยคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโรคโควิด-19 เบื้องต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเร่งผลักดันประเทศให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และกลุ่มทรูมุ่งมั่นที่จะร่วมนำพาประเทศให้ข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างรวดเร็ว”
ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 20.1 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 ส่วนใหญ่จากการเติบโตในอัตราเลขสองหลักของรายได้จากกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือน แม้รายได้ที่เกี่ยวข้องกับบริการโรมมิ่งและนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปลายไตรมาส ทรูมูฟ เอช ยังมีรายได้ที่เติบโตจากไตรมาสก่อน สวนทางกับอุตสาหกรรม อันเป็นผลจากกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิกว่า 3 แสนรายในไตรมาส 1 ปี 2563 ส่งผลให้ทรูมูฟ เอช มีฐานผู้ใช้บริการรวมเป็น 30.3 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือน 8.6 ล้านราย และระบบเติมเงิน 21.7 ล้านราย ทั้งนี้ เครือข่ายคุณภาพสูงของทรูมูฟ เอช ซึ่งได้รับการยืนยันจากสถาบันทดสอบคุณภาพระดับโลกอย่าง nPerf ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดีที่สุดในประเทศไทยประจำไตรมาส 1 ปี 2563 นับเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน โดยเฉพาะในหมวดการทดสอบการเบราว์ซิ่งและการสตรีมมิ่ง และการผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งด้านดีไวซ์ ช่องทางการขายและจัดจำหน่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของรายได้และการขยายฐานผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ การมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และระบบสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุด ตลอดจนความต้องการใช้งานดาต้าและธุรกรรมดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยส่งเสริมการเติบโตให้กับทรูมูฟ เอช ต่อไป
ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต 6.5 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2563 คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 4.7 จากปีก่อนหน้า จากผลตอบรับที่ดีต่อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1Gbps รวมถึงแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ที่ผสานคอนเทนต์คุณภาพผ่าน TrueID TV ได้อย่างคุ้มค่า ทำให้ทรูออนไลน์ มีฐานผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นเป็น 3.9 ล้านราย ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 55 พันรายในระหว่างไตรมาส ทั้งนี้ ทรูออนไลน์ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแนวโน้มของการทำงานจากบ้านและธุรกรรมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเปิดตัวบริการพิเศษ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนระดับความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ตรงตามการใช้งานของลูกค้า การเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้าที่ต่อสัญญา แพ็กเกจ VLearn สำหรับนิสิต นักศึกษา และ VWork สำหรับกลุ่มคนทำงาน เพื่อรองรับแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ “True Virtual World” พร้อมสิทธิพิเศษผ่าน TrueID TV ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมคอนเทนต์คุณภาพระดับโลกและรับสิทธิประโยชน์ผ่านการสะสมและใช้ทรูพอยท์ โดยแพ็กเกจเหล่านี้ได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมผ่านสินค้าและบริการที่หลากหลายภายใต้กลุ่มทรู
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การจัดงานอีเว้นต์บันเทิงและรายการกีฬาสดต่างๆ ถูกเลื่อนออกไป ส่งผลให้ทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องลดลงเช่นกันโดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้าประมาณ 4 ล้านราย นอกจากทรูวิชั่นส์จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการอื่นๆ ของกลุ่มทรูภายใต้ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ด้วยคอนเทนต์คุณภาพทั้งจากในประเทศและต่างประเทศแล้ว ทรูวิชั่นส์ยังสร้างการเติบโตผ่านเครือข่ายInfluencer หรือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ของธุรกิจออนไลน์สเตชัน ทั้งด้านการสร้างรายได้เพิ่มเติมและการขยายฐานลูกค้าให้กับหลายธุรกิจภายใต้กลุ่มทรูผ่านการทำการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เดินหน้าสร้างความแตกต่างให้กับกลุ่มทรู ด้วยธุรกิจและการให้บริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง ทรูไอดี มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในกลุ่มแอปพลิเคชันหมวดบันเทิง ทั้งในระบบแอนดรอยด์และ iOS โดยมียอดรับชมวิดีโอต่อเดือนสูงถึง 141 ล้าน และมียอดรับชมบริการวิดีโดออนดีมานด์ (VOD) สูงสุดที่ 36.9 ล้าน นับเป็นการเติบโตถึง 400% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งยังมีจำนวนการสมัครรับชมคอนเทนต์ทรูไอดีเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีเป็น 285,000 รายการ นอกจากนี้ ฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามา เช่น การแชทและการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน ทรูไอดี ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้งานต่อเดือนสูงถึง 280,000 ราย ในขณะที่กล่องทรูไอดี ทีวี ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยยอดรวม 843,000 กล่อง ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดกลยุทธ์การเสริมสร้างศักยภาพดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ได้มอบความช่วยเหลือในช่วงภาวะวิกฤตนี้ ด้วยบริการ “Virtual COVID-19 Clinic” ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตลอด24 ชั่วโมงบนช่องทางออนไลน์ ผ่านความร่วมมือกับเอไอเอและเครือโรงพยาบาลสมิติเวช นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน ยังคงเดินหน้าขยายความร่วมมือและฐานลูกค้าด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมโซลูชันที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างครบวงจรในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมภาคการเกษตร (Agriculture) อุตสาหกรรมภาคการค้าปลีก (Retails) อุตสาหกรรมภาคการผลิต (Manufacturing) อุตสาหกรรมด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (Logistics) และอุตสาหกรรมภาคสุขภาพและสาธารณสุข (Healthcare) โดยมีจำนวนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อและใช้บริการแล้วกว่า 242,000 อุปกรณ์
Cr:Pr True