กรุงเทพฯ 23 ธันวาคม 2564 – ทรู 5G ยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งล้ำยุค ปลดล็อกข้อจำกัดการบินโดรนขนส่งเพื่อการพาณิชย์ครั้งแรกในไทย ผนึกความร่วมมือกับไฮฟ์กราวนด์ (HiveGround) ผู้นำด้านธุรกิจโดรนโซลูชัน และคณะผู้พัฒนาระบบบริหารการจัดการห้วงอากาศและการจราจรอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย และทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาและทดลองทดสอบการบินโดรนเพื่อการพาณิชย์ ชูจุดเด่น เครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G เชื่อมต่อในการรับส่งข้อมูล สั่งการ ควบคุม และตรวจสอบสถานะโดรนแบบเรียลไทม์ตลอดเส้นทางการบิน สุดล้ำด้วย Unmanned Aircraft System Traffic Management (UTM) ศูนย์กลางบริหารจัดการการบินโดรนแบบครบวงจร ทั้งการขออนุญาตเส้นทางการบิน เช็คความปลอดภัยของสภาพอากาศและการจราจรทางอากาศ เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ ผู้ควบคุมจราจร การบิน และผู้ให้บริการบินโดรนในระบบเดียว เปิดมิติใหม่ของการบินโดรนแบบอัตโนมัติ แม่นยำ ฉับไว ปลอดภัยด้วยมาตรฐานระดับสากล มั่นใจพร้อมให้บริการอย่างแพร่หลายภายในปี 2565
คุณวิฑูรย์ เจียมศิริกาญจน์ รองผู้อำนวยการและคณะทำงาน 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรู 5G ตอกย้ำผู้นำเครือข่ายที่เร็วแรงกว่า ครบกว่า และครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ นำอัจฉริยภาพเครือข่ายทรู 5G และระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรู ร่วมพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมในมิติต่าง ๆ เดินหน้าผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรม 5G ขับเคลื่อนภาคการขนส่งยุคดิจิทัลของประเทศ ผนึกพันธมิตรร่วมพัฒนาการบินโดรนเพื่อการพาณิชย์ครั้งแรกในไทย เชื่อมต่อรับส่งข้อมูล สั่งการ ควบคุมและตรวจสอบการบินโดรนขนส่งได้แบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G ตลอดเส้นทางการบิน ทั้งยังเชื่อมโยงจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ นำไปวิเคราะห์และประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาการบินโดรนขนส่งที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ยังผสานการทำงานร่วมกับระบบ Unmanned Aircraft System Traffic Management (UTM) ซึ่งเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการการบินโดรนแบบครบวงจร ดูแลและควบคุมการบินโดรนบนเส้นทางการบินอย่างถูกกฎหมาย ปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะปลดล็อกการบินโดรนอย่างถูกกฎหมาย เปิดมิติใหม่ในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการบินโดรนเพื่อการพาณิชย์ นำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจต่าง ๆ ต่อไป
ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HiveGround กล่าวว่า HiveGround มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์หลายรูปแบบ รวมถึงสินค้าหลักคือโดรนเพื่อการเกษตร อีกทั้งเทรนด์ที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด คือโดรนสำหรับการขนส่งหรือโลจิสติกส์ HiveGround จึงนำความเชี่ยวชาญ ต่อยอดในความร่วมมือครั้งนี้เพื่อร่วมพัฒนาการทำงานของโดรนผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G สำหรับการขนส่ง ซึ่งจะมีประโยขน์และตอบโจทย์การใช้งานในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี สามารถย่นระยะเวลาได้มากโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือในพื้นที่ที่มีอุปสรรคหรือเส้นทางไม่สะดวก เช่น พื้นที่ธุรกันดาร ป่า หรือภูเขา ซึ่งการนำ 5G มาเชื่อมต่อกับการทำงานของโดรน ถือเป็นการเติมเต็มจินตนาการในการพัฒนาเพื่อการใช้งานโดรนแบบไม่มีข้อจำกัด
ดร.ศุภัชชา ชัยเมธานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากอากาศยานไร้คนขับโดยมาตรการความปลอดภัยด้านการบิน คณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า ระบบ UTM สามารถช่วยวิเคราะห์ บริหารจัดการให้บินโดรนได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เมื่อมีเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G เชื่อมต่อการทำงานของโดรนแล้ว ระบบ UTM นี้ ถือเป็นสิ่งที่จะเติมเต็มทำให้การบินในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นได้จริง โดยช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน โดยผู้ให้บริการโดรนสามารถส่งแผนการบินเข้ามาขออนุมัติการบิน ระบบจะช่วยวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้งานในห้วงอากาศตามเส้นทางที่จะใช้ เพื่อการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงการควบคุมติดตามการบินให้เป็นไปตามเส้นทางที่ขออนุมัติและสถานะการบินที่มีความปลอดภัย และยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ย้อนหลังได้อีกด้วย
คุณคณิน คิวเกษมสวัสดิ์ ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ (เขตประชิดสนามบินกรุงเทพฯ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิทยุการบินมีหน้าที่ในการบริหารจัดการการจราจรจากอากาศยานไร้คนขับ เพื่อประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ในอากาศด้วยความปลอดภัยสูงสุด โดยบริษัทฯเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการห้วงอากาศและจราจรอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ได้พัฒนาและทดลองทดสอบระบบ UTM เพื่อแสดงการติดตามสถานะของโดรนระหว่างการบิน ซึ่งจะรองรับการเติบโตของการใช้โดรนเพื่อการขนส่งในเชิงพาณิชย์ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่อไป