กรุงเทพฯ 3 พฤศจิกายน 2566 – ในยุคที่กระแสการดูคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์ม OTT (Over The Top) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน 4G 5G ในประเทศไทย ที่ทำให้ความสะดวกในการเข้าถึงคอนเทนท์เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทุกแพลตฟอร์มออนไลน์และบนสมาร์ทโฟน รวมทั้งจำนวน OTT ของผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาทำตลาดในไทย จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ไทยที่จะเร่งขยายตลาดผนึกกำลังสร้างความแข็งแกร่ง ยกระดับประสบการณ์การรับชม รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้แก่อุตสาหกรรม OTT รวมถึงสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนำนวัตกรรมมาใช้กำหนดทิศทาง OTT ของไทย
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการทรู ไอดี หนึ่งในแพลตฟอร์ม OTT ชั้นนำของไทย ได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจ OTT ในงาน “NBTC International OTT Symposium in Digital Ecosystem” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงาน กสทช. โดยนายวินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี ประธานฝ่ายดิจิทัลมีเดียได้กล่าวว่า “ที่ผ่านมาทั้งผู้ประกอบการทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ต่างได้รับประโยชน์จาก OTT โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบให้การรับชมคอนเทนต์ผ่าน OTT ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างแพร่หลาย เห็นได้ชัดจากปริมาณการรับชม VDO on Demand ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ผู้ชมผ่านทรูไอดี ยังเลือกที่จะรับชมเนื้อหาตามเวลาที่ตนเองต้องการ มากกว่ารับชมตามเวลาที่กำหนดในผังรายการ นี่คือการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการเลือกรับชมตามความต้องการ (VDO on demand) พฤติกรรมเหล่านี้ยังทำให้เกิดกระแสการลงทุนในคอนเทนต์ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนวัตกรรมสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ อีกด้วย
กระแสที่มาแรงในปี 2023 ยังเป็นเทรนด์ของ AI ที่ถูกพัฒนาจนสามารถใช้งานได้ในวงกว้าง ผู้บริโภคเองสามารถใช้งานได้ เช่น Chat GPTสำหรับอุตสาหกรรม OTT สามารถนำ AI มาช่วยลดค่าใช่จ่ายในการผลิต (Production) โดยทั่วไปขั้นตอนการผลิตค่าใช้จ่ายสูงมีโอกาสสร้างกำไรหรือขาดทุนได้ ดังนั้น AI สามารถช่วยลดระยะเวลาและปรับปรุงกระบวนการผลิต อีกทั้งยังสามารถทำได้อีกหลายสิ่งแทนที่มนุษย์เคยทำ ในขณะเดียวกัน AI ยังสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมในรับชมของคนในวัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกันแล้วประมวลผลเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจผู้ชมมากยิ่งขึ้น”