กลุ่มทรู รายงานผลประกอบการปี 2564 มีรายได้รวม 143,655 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการ 106,256 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยความต้องการในการใช้ดาต้าและบริการด้านดิจิทัลที่เติบโตขึ้น ประกอบกับการมุ่งเน้นบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 10 มาอยู่ที่ 57,761 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้นเป็น 12,413 ล้านบาท ในปี 2564
ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลพร้อมแพลตฟอร์มและโซลูชันที่ครบวงจรของกลุ่มทรู รวมทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมคุณภาพสูง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจองค์กรได้อย่างตรงจุด ในขณะเดียวกัน กลุ่มทรูเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้กลุ่มทรูสร้างการเติบโตของผลกำไร และเติมเต็มความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี 2654 จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.3 พันล้านบาท (หรือ 0.07 บาทต่อหุ้น) ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีก่อนหน้า โดยจะนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ยังได้อนุมัติการควบรวมบริษัทระหว่างบริษัทฯ และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในลำดับถัดไป ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ
โดยหากการควบรวมประสบผลสำเร็จจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร (Transformation) สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่สามารถตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการลงทุนเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย และเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะสนับสนุนการพัฒนาด้านดิจิทัลและสตาร์ทอัปให้ประเทศไทย
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2564 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตวิถีใหม่ในสังคมไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิตในสังคม ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้โลกดิจิทัลกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งส่งผลให้กลุ่มทรูที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมีการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันคุณภาพสูงมาอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการใช้งานผู้บริโภคชาวไทยและภาคธุรกิจได้ทันต่อสถานการณ์
โดยผลประกอบการในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาของกลุ่มทรูปรับตัวดีขึ้นจากอัตราการขยายตัวของการใช้งานดังกล่าว รวมถึงฐานลูกค้า 5G บรอดแบนด์ และทรูไอดีที่เติบโตขึ้นจากความต้องการในการใช้ดาต้าและบริการด้านดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการพัฒนาเครือข่าย 5G และบรอดแบนด์คุณภาพสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ กลุ่มทรูยังคงเดินหน้าอย่างไม่ลดละเพื่อนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการที่ใช้เทคโนโลยี ดาต้า พร้อมการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพัฒนาบริการที่ยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าให้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มความสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์และการบริการด้วยตนเอง ทำให้สามารถตอบรับกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงสภาวะการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจหลักในการขยายศักยภาพการเติบโตของกลุ่มทรู พร้อมสนับสนุนการเติบโตของภาคส่วนต่างๆ และนำพาประเทศสู่การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
น.ส.ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรู เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารค่าใช้จ่ายและปรับโครงสร้างต้นทุนได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ EBITDA และ margin เติบโตในปี 2564 ที่ผ่านมา แม้เป็นอีกปีที่ต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่างจากผลกระทบของภาพรวมเศรษฐกิจและโควิด-19 แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในไตรมาส 4
ในขณะที่การเดินหน้าขยายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับเพิ่มเติม ยังคงกระทบต่อผลกำไรของบริษัทในระหว่างปี แต่ทำให้กลุ่มทรูสามารถตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับการมุ่งเน้นปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อสร้างผลกำไรที่เติบโตได้อย่างยั่นยืนให้กลุ่มทรูต่อไป
ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการที่ 79,756 ล้านบาทในปี 2564 หนุนโดยรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้รายได้จากการให้บริการของทั้งปีค่อนข้างทรงตัว (ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน) ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของอุตสาหกรรมไม่รวมทรูมูฟ เอช ลดลงร้อยละ 1.6 จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและกดดันการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช มีผู้ใช้บริการ 5G เติบโตแข็งแกร่งเป็นกว่า 2 ล้านราย ด้วยการมุ่งเน้นมอบประสบการณ์ 5G ประสิทธิภาพสูงให้แก่ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการนำเสนอแคมเปญคุ้มค่าร่วมกับดีไวซ์หลากหลายรุ่นจากแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ทรูมูฟ เอช ยังได้เพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้บริโภคด้วยคอนเทนต์เออาร์และวีอาร์ เกมผ่านคลาวด์ และการให้สินเชื่อพร้อมการผ่อนชำระผ่าน “True Pay Next” เงินติดมืออีกด้วย ในขณะเดียวกัน ทรูมูฟ เอช ได้ขยายระบบนิเวศ 5G และพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศักยภาพและการใช้งาน 5G ในประเทศด้วยการพัฒนา 5G use cases บริการและโซลูชัน 5G ที่สร้างความแตกต่าง เช่น smart hospital ผ่านแพลตฟอร์ม 5G MEC (Multi-Access Edge Computing) Smart Factory ที่ติดตั้งแบบ Private Network การเกษตรอัจฉริยะผ่านโดรน รวมถึงการพัฒนาบริการ 5G และโซลูชันสำหรับการท่องเที่ยวแบบอัจฉริยะเพื่อให้เกิดสมาร์ทซิตีได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทรูมูฟ เอช มีผู้ใช้บริการรวม 32.25 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564 แบ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือน 10.97 ล้านราย และผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน 21.28 ล้านราย
ทรูออนไลน์ คงความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งกว่า 101,000 รายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และ 442,000 รายในปี 2564 ขยายฐานผู้ใช้บริการรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านราย ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์เติบโตร้อยละ 9 จากปีก่อนเป็น 29,503 ล้านบาท
โดยในปี 2564 ทรูออนไลน์ยังคงไม่หยุดนิ่งในการนำเสนอนวัตกรรมดีไวซ์ผ่านแคมเปญที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง True Gigatex Fiber Pro เราเตอร์อัจฉริยะ WiFi6 รุ่นใหม่ล่าสุด และการผสานคอนเทนต์คุณภาพจากทรูไอดีทีวี ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มีการเปิดตัว True Gigatex Flexi บริการอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วแบบยืดหยุ่นในไตรมาสที่ 4 ที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกปรับความเร็วเองได้ตามความชอบและไลฟ์สไตล์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นโหมดการทำงานหรือการเรียนออนไลน์ (Work & Learn) โหมดดูหนังฟังเพลง (Streaming) หรือโหมดเล่นเกม (Gaming)
ทรูออนไลน์เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเติมเต็มทุกความต้องการของลูกค้าผ่านเครือข่ายไฟเบอร์คุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยได้รับรางวัลจากสถาบันทดสอบคุณภาพอินเทอร์เน็ตระดับโลก nPerf 2 ปีซ้อน ทั้งรางวัลอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ดีที่สุดในไทย และรางวัลไฟเบอร์ดีที่สุด รวมถึงการมุ่งเน้นให้บริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย คอนเทนต์ที่เพิ่มมูลค่าและการบำรุงรักษาและให้บริการลูกค้าแบบเชิงรุก
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,464 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เติบโตขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของรายได้สปอนเซอร์และรายได้จากธุรกิจบันเทิง ขณะที่รายได้จากการให้บริการในปี 2564 อยู่ที่ 9,838 ล้านบาท ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หันไปสู่สื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์ม OTT ที่ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์ได้มีการเปิดตัว TrueVisions NOW บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่ลูกค้าสามารถรับชมคอนเทนต์คุณภาพได้ทุกเวลาผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดดังกล่าวที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการมุ่งสร้างการเติบโตด้วยการให้บริการแบบครบวงจรผสานจุดแข็งของกลุ่มทรูทั้งคอนเทนต์คุณภาพหลากหลาย สื่อ และเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสบการณ์การรับชมของลูกค้าต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เติบโตจาก 3.5 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ขยายธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 รายได้จากทรูไอดีและทรูดิจิทัลโซลูชัน เติบโตสูงร้อยละ 66 และร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลทรูไอดี ได้เพิ่มความหลากหลายคอนเทนต์ด้านความบันเทิงด้วยซีรีส์ทรูไอดีออริจินัล และซีรีส์จากประเทศจีนอีกจำนวนมาก
อีกทั้งยังมีบริการรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสบการณ์การรับชมคอนเทนต์ด้านความบันเทิงโดยการจำหน่ายตั๋วสำหรับรับชมคอนเทนต์สด ซึ่งมีการจัดการแสดงดนตรีสดเสมือนจริงผ่านแพลตฟอร์มทรูไอดี และการแข่งขันกีฬาสด ซึ่งทำให้จำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 30 ล้านราย มียอดรับชมคอนเทนต์วิดีโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 431 ล้านครั้ง และการซื้อคอนเทนต์ด้านความบันเทิงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 671,000 ครั้ง
ขณะเดียวกัน กล่องทรูไอดี ทีวี มียอดรวม 3 ล้านกล่อง เพิ่มขึ้นประมาณ 300,000 กล่องจากไตรมาสก่อน สำหรับธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน ยังคงเติบโต พร้อมเปิดตัว IoT สมาร์ทโฮมครบครัน ที่ให้ควบคุม เชื่อมโยงสั่งการผ่านแอป True LivingTECH เปิดประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล เปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบ้านอัจฉริยะ ขณะเดียวกัน ได้มีการนำนวัตกรรมร้านค้าอัจฉริยะสำหรับลูกค้าธุรกิจค้าปลีกเพื่อใช้วิเคราะห์พฤติกรรมและข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าและพัฒนาการจัดการชั้นวางสินค้า และยังทำให้ร้านค้าสามารถนำเสนอสินค้าได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น