ttb analytics คาดยอดขายรถยนต์ในไทยหดตัว 1.6% เหลือ 8.35 แสนคัน สวนทางรถยนต์ไฟฟ้าโต 5 เท่า

ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2023 อยู่ที่ 8.35 แสนคัน หรือ หดตัว 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบแตะ 60,000 คัน หรือเติบโต 5 เท่าจากปี 2022 เหตุเศรษฐกิจเริ่มแผ่ว กำลังซื้อชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือน และการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจ รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

Car
Image by Markus Winkler from Pixabay

มาตรการเข้ม กำลังซื้อหาย ทำยอดขายหด

ttb analytics วิเคราะห์ว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศมีทิศทางซบเซาต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศ 8 เดือนแรกของปี 2023 อยู่ที่ 524,784 คัน หรือหดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

เมื่อพิจารณาลงลึกเป็นรายพื้นที่จากยอดจดทะเบียนใหม่ ก็พบว่า ตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หดตัวถึง 22.6% จากปีก่อน รองลงมาคือ ภาคกลางและภาคใต้ที่หดตัว 19.2% จากปีก่อน และ 9.6% จากปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีทิศทางทรงตัว

ทั้งนี้ การชะลอตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศมาจากรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก โดยหดตัวสูงถึง 13% จากปีก่อน จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แผ่วกว่าที่คาด แต่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในกลุ่มรถกระบะและรถยนต์อเนกประสงค์ (PPV) ระดับพรีเมียมกลับยังขยายตัวได้ดีในเกือบทุกภูมิภาค

TTB

รถเก๋งยังพอไปได้ มีรถยนต์ไฟฟ้าช่วยดัน

ส่วนยอดขายประเภทรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้ 3.4% จากปีก่อน เนื่องจากยอดขายกลุ่มนี้จะอ่อนไหวต่อภาพของเศรษฐกิจน้อยกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ ทั้งยังได้กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ส่งผลให้ยอดขายรถ EV สะสมตั้งแต่ต้นปีสูงถึง 59,025 คัน หรือขยายตัวถึง 433.1% จากปีก่อน ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2565 เป็น 15-20% ในปัจจุบัน

แม้ยอดขายในประเทศโดยรวมหดตัว แต่ตัวเลขส่งออกกลับขยายตัวได้ดี ดันยอดผลิตรถยนต์ 8 เดือนแรกของปี 2023 ให้ขยายตัวได้ 3.1% จากปีก่อน เนื่องจากสัดส่วนการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2016 ที่ระดับ 59.2% สวนทางการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เหลือเพียง 40.8% ตรงกับการชะลอตัวในประเทศ

ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกในช่วงที่ผ่านมาที่ขยายตัวถึง 19.5%YoY มาจากการเร่งชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้า หลังเกิดปัญหาอุปทานชิ้นส่วนสำคัญชะงักงันจนทำให้การผลิตล่าช้าออกไป ในปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยอดส่งออกรถยนต์นั่งทั้งแบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และ EV รวมไปถึงรถ PPV ที่เพิ่มขึ้น

คาดปีนี้ยอดขายในประเทศปิด 8.35 แสนคัน

จากปัจจัยดังกล่าว ttb analytics จึงประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2023 จะอยู่ที่ 8.35 แสนคัน หรือหดตัว 1.6% จากปีก่อน แบ่งเป็นรถยนต์เชิงพาณิชย์ 4.47 แสนคัน หรือหดตัว 10.8% จากปีก่อน และรถยนต์นั่ง 3.88 แสนคัน ขยายตัว 11.5% จากปีก่อน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงิน ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ส่งสัญญาณแผ่วลง กำลังซื้อในภาพรวมยังชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ผลพวงจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะกระทบต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกร ตลอดจนการชะลอซื้อรถเพื่อการพาณิชย์ของภาคธุรกิจที่รอความชัดเจนจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

ด้านตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในปี 2023-2024 จะยังเป็นอีกปีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์นั่ง EV ปีนี้อาจสูงถึงเกือบ 6 หมื่นคัน หรือเติบโตไม่น้อยกว่า 5 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนรุ่นรถ EV ที่จำหน่ายในประเทศมีให้เลือกมากกว่า 50 รุ่นย่อยในปัจจุบัน

โดยเฉพาะภายหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ หรือ มาตรการอีวี 3.0 (และล่าสุดได้ออกมาตรการอีวี 3.5 ต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะหมดอายุสิ้นปี 2566) ส่งผลให้แบรนด์ผู้ผลิตรถ EV จีนรายใหญ่เร่งนำเข้ารถสำเร็จรูปจากจีนเพื่อเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศกันอย่างคึกคัก กดดันให้ราคารถใหม่ในตลาดปรับตัวลงไม่น้อยกว่า 10-20% จนเรียกได้ว่าเป็นสงครามราคา (Price War) ที่กระตุ้นให้รถ EV มีความน่าสนใจในสายตาผู้บริโภคมากขึ้น

สำหรับธุรกิจเช่าซื้อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน ซึ่งมีส่วนกดดันอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ เนื่องจากมาตรฐานการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปียังเข้มงวดต่อเนื่อง จากความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้และความเสี่ยงของมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันจากอุปทานรถยนต์ในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่คาดว่าจะด้อยลงต่อจากแนวโน้มที่ Stage 2 ในปัจจุบันจะไหลมาเป็นหนี้เสีย เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาท รวมไปถึงต้นทุนการกู้ยืมของสถาบันการเงินที่ยังปรับตัวสูงขึ้นตามวัฏจักรดอกเบี้ยที่ยืนสูงในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้เป็นพิเศษ และส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ที่มา Brand Inside