ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทยจัดงานประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 ขับเคลื่อนแนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges รวมพลังสมาชิกภาคธุรกิจ 110 องค์กร รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งไทยและต่างประเทศ เร่งเพิ่มมาตรการรับมือวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้แทนภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน
ภายในงานสมาชิก GCNT ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติ อย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้ โดยตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงจะเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมมือกับผู่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ร่วมปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมุ่งมั่น บริหารจัดการ กำหนดนโยบายและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีระบบในการประเมินและติดตามตรวจสอบคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนรวมของชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และด้วยการสนับสนุนกลไกทางการเงิน การบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ ภายในปี ค.ศ. 2030
ไทยต้องประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทย เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ” โดยเน้นย้ำว่าการลดภาวะโลกร้อน มิใช่เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติธรรมชาติ แต่เพื่อให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความยั่งยืน ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จึงกำหนดให้หลักการ “การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งคำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล” เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของเอเปค ที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักของการปรึกษาหารือของผู้นำเขตเศรษฐกิจ ในครั้งนี้
โดยหวังว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ” จะสามารถบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อรับมือกับวิกฤตโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การจัดการป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน การลดและบริหารจัดการของเสีย ไปจนถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายของไทยเอง คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่าประเทศไทยมีศักยภาพและข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องใช้ประโยชน์จากจุดนี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ การพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุสุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยเป็นภาคีสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ CBD และมีบทบาทแข็งขันในการร่วมกับรัฐภาคีอื่น ในการจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกภายหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะมีการรับรองในการประชุม CBD COP15 ในเดือนธันวาคมนี้
ในช่วงท้าย พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไทยมีความตื่นตัวและได้เริ่มปรับรูปแบบ การดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางทรัพยากรและขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศสู่ความยั่งยืนแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็งจากความร่วมมือ ของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน
“การพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตและผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้และยังสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยน ทั้งแนวคิด วิถีชีวิต รูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจ สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นและยั่งยืน เพราะการสร้างผลกำไรสามารถทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสังคมได้ และจะต้องเป็นเช่นนั้น” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
“วราวุธ”วอนขอหยุดแค่ climate change อย่าให้ถึง Biodiversity Loss
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถ้อยแถลงว่า สองปีที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาน้ำท่วม ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2563 ไทยเจอปัญหาภัยแล้ง มาปี 2564 เกิดน้ำท่วม ซึ่งตามสถิติแล้วหากน้ำท่วมหนัก 1 ปี ปีต่อมาจะไม่ท่วมอีก ฉะนั้นปี 2565 น่าจะสบาย แต่ปรากฎว่าปี 2565 น้ำท่วมอีก และท่วมเท่าปี 2564 โชคยังดีที่มีพายุน้อยกว่าปี 2564 ทำให้เห็นว่ารูปแบบของอากาศ ชั้นพายุในบ้านเรามีปัญหามากขึ้น แม้แต่สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ที่ตั้งแต่เล็กจนโตเราคงได้ยินคำว่าสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ก็สูงไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่เพิ่งมีปีที่แล้วและปีนี้ โดยเฉพาะปีนี้ถ้าบ้านใครอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเห็นอิทธิพลของน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น จากเมื่อก่อนที่จะเอ่อสองฝั่งแม่น้ำธรรมดาๆ แต่ปี 2565 น้ำท่วมหนักมากขึ้น และในอนาคตอีก 10 ปีจากนี้ไป น้ำจะท่วมถึงขนาดไหน
นอกจากไทยแล้ว ยังมีปากีสถานที่ท่วมหนัก ก่อนหน้านี้ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี วันเดียวฝนตกลงมา 380 มิลลิเมตร ขณะที่แม่น้ำสายหลักในประเทศจีนกลับแห้งขอด เกิดสถานการณ์คลื่นความร้อนในทวีปยุโรปที่ไม่เคยร้อนมาก่อน ร้อนกว่าประเทศไทยอีก นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนรู้สึกได้ ไม่ใช่แค่เห็น ไม่ใช่แค่ทราบ แต่กำลังเผชิญมันอยู่ในทุก ๆ วัน ซึ่งไม่แฟร์เลยถ้าเทียบว่าไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ 0.8% ของโลกใบนี้ อยู่ในลำดับที่ 22 เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน เวลาเกิดปัญหา Crimate Change ขึ้น ผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง เราอยู่ในอันดับ 9 ของโลกที่เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เจอภัยพิบัติทุกอย่าง ได้รับผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กระทบโดยถ้วนหน้า
“ในปี 2561 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 372 ล้านตัน น้อยมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 3 อันดับแรกอยู่ที่กว่า 20% ประเทศเหล่านั้นจึงต้องมีส่วนร่วม จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาไม่น้อยไปกว่าประเทศไทย” นายวราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ ในข้อตกลงปารีสที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงเมื่อปี 2564 ว่า ไทยเข้าสู่สถานะ Carbon Nuetrality (สภาวะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสมอกับศักยภาพดูดซับ) ในปีค.ศ. 2050 และ Net zero greenhouse gas emissions (Net zero GHG emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยข้อเท็จจริงแล้ว การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกหายไป อุณหภูมิโลกจะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ แต่จะไม่เพิ่มขึ้นถึง 2.8 องศา คือเพิ่มไม่เกิน 1.8 องศาทั่วโลก บางคนบอกว่า อุณหภูมิ ที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศาจะเดือดร้อนอะไร แอร์ที่บ้านเปิดจาก 23 องศาไปเป็น 25 องศาก็ไม่เท่าไหร่ เปิดพัดลมช่วยก็ยังได้ เปิดจาก 21 องศา ไป 23 องศา อุ่นขึ้นหน่อยเดียว ไม่เห็นจะแตกต่างอะไรเลย ต้องบอกว่า อย่าเปรียบโลกใบนี้กับเครื่องปรับอากาศที่บ้าน
“โลกใบนี้มีความเปราะบาง มันมีชีวิต มี dynamic มันคือสิ่งมีชีวิตสิ่งหนึ่ง ถ้าจะเปรียบต้องเปรียบเทียบกับมนุษย์ คนเรามีอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าบวกไปอีก 1.5 องศา ก็เป็น 39 องศา คือ ไข้ต่ำ ๆ แล้วถ้าบวกอีก 3 องศา เป็น 40.5 องศา คือเข้าโรงพยาบาลแล้ว ดังนั้น ถ้าวันนี้เราไม่ทำอะไร โลกใบนี้เข้าโรงพยาบาลแน่นอน ถ้าโลกเข้าโรงพยาบาล ก็ไม่ต้องพูดถึงพวกเรา ตายหมดโลกแน่ และคลื่นลูกสุดท้ายที่อันตรายที่สุด คือ Biodiversity Loss ฉะนั้น อย่าไปให้ถึงคลื่นลูกนั้นเลย เราหยุดเพียงแค่ Crimate Change ดีกว่า”
ไทยปล่อยคาร์บอนพีคสุดปี 2025
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สถานะ Carbon Nuetrality และ Net zero GHG ได้นั้น ต้องมีแผนระยะยาว เพื่อให้ไทยไปสู่ Net zero GHG ภายในปี ค.ศ. 2065 ได้ และในระยะสั้น ไทยมี NDCs (Nationally Determined Contributions : NDC) ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ ที่จะต้องส่งก่อนเดินทางไปร่วมประชุมมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ 2022 หรือ COP27
การประชุม COP27 เริ่มขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ประเทศอียิปต์
โดยแผนที่ส่งไปคือ ภายในปี ค.ศ. 2030 ไทยจะลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้ได้ 40% จากสถานการณ์ปกติ การจะทำได้ตามเป้าหมาย ไทยไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ตอนแรกไทยตั้งเป้าจะลดเพียง 30% แต่พอไทยขยับกรอบเวลา(Timeline) ของประเทศเป็น ค.ศ. 2050 กับค.ศ. 2065 ก็ต้องเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกอีก 10% เป็น 40% ซึ่ง 10% ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไทยทำประเทศเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือ ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ของไทย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดทวีปใด ไม่ว่าจะเป็น Green Fund หรือ Finance Support ต้องได้เทคโนโลยี ต้องได้ capacity building หรือการสร้างเสริมขีดความสามารถ เพื่อประสบความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ.2030 ตามที่กำหนดไว้ในแผนระยะสั้น มีคำถามว่า ทำไมต่างชาติจะต้องมาช่วยไทย ก็เพราะว่าตอนแรกสุดไทม์ไลน์ไม่ใช่ปี ค.ศ. 2050 กับ ค.ศ. 2065 แต่เป็นปี ค.ศ. 2065 กับ ค.ศ. 2090
แต่ก่อนการประชุมโลกร้อนสหประชาชาติครั้งที่ 26 (COP26) เมื่อปีที่แล้ว หลายประเทศได้มาพูดคุยกับกระทรวงทรัพย์ฯ บอกว่าอยากให้ไทยขยับไทม์ไลน์ให้เร็วขึ้น จะทำได้หรือไม่ ก็ได้บอกว่าทำไม่ได้ เพราะด้วยศักยภาพ เทคโนโลยี และงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ประเทศไทยทำได้ภายในไทม์ไลน์นี้ พูดเท่าไหร่แต่ละประเทศก็ไม่ยอม จนเขาบอกว่า อยากให้ช่วยอะไรเพื่อเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น จึงได้ขอ 3 เรื่อง คือ เงิน เทคโนโลยี และขอให้มาช่วยไทยในการดำเนินการด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะปรับแผนระยะยาวของไทยได้ ต้องรู้ก่อนว่า ไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเต็มที่ หรือพีคสุดเมื่อไหร่ ซึ่งจากการคำนวณพบว่าปีค.ศ. 2025 หรืออีก 3 ปีจากนี้ไป จะอยู่ที่ 388 ล้านตัน และจาก 388 ล้านตันในปี ค.ศ. 2025 จะค่อย ๆ ลดไปจนเหลือ 120 ล้านตัน ภายในปีค.ศ. 2065 ปริมาณ 120 ล้านตันนี้เป็นปริมาณที่ไทยสามารถ offset หรือหักล้างกันได้ด้วยปริมาณพื้นที่สีเขียว คาร์บอนเครดิตที่ไทยมีอยู่ โดยภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ fossil fuel ทั้งหลาย การใช้โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นต้น วันนี้กระทรวงพลังงานมีบทบาทภารกิจที่สำคัญ รวมทั้ง ภาคการเกษตร ภาคธุรกิจอีกหลายภาค
“วันนี้ ผมดีใจที่ GCNT ได้มารวมตัวกัน เป็นการรวมตัวที่เชื่อว่าเกินครึ่งหนึ่งของประเทศนี้ที่จะมีอิมแพคต่อคาร์บอนฟรุตปรินท์ของประเทศไทย รวมทั้งซัพพลายเชน อัพสตรีม ดาวน์สตรีม ผลที่จะได้จากพวกท่านจะส่งผลให้เราเดินทางสู่เจตนารมณ์ที่ไทยได้ประกาศไว้ให้โลกรู้ในปีค.ศ. 2050 และค.ศ. 2065 ได้”
โดยแผน NDCs นั้นมีหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนในการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้ EV (Electric Vehicle) โดยไทยได้มีการสนับสนุนการใช้ EV เช่น มาตรการทางภาษี แต่ไฟฟ้าที่ใช้จะมาจากแหล่งไหน จะเป็น clean energy จะเป็น hybrid หรืออย่างไร เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องเร่งปรับปรุงกันในอนาคต หรือแม้แต่การส่งเสริมการใช้ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก แทนพอร์ตแลนด์ซีเมนต์ แบบเมื่อก่อนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากพอสมควรในช่วงการผลิตซิเมนต์ รวมไปถึงการเปลี่ยนสารทำความเย็นทั้งหลายในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือภาคการเกษตรของไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ที่ก็เพิ่งทราบว่า การทำนาปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) ออกมามากมายในช่วงที่มีการสะสมหมักหมมของน้ำในนาข้าว หรือแม้แต่ภาคปศุสัตว์ มูลสัตว์ ของเสียของสัตว์ ก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมานั้น มีอานุภาพรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ก๊าซมีเทน 1 ตัน เท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 ตัน ภาคการเกษตรจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ไทยก้าวเข้าสู่สถานะ Carbon Nuetrality ได้ตามเป้าหมาย
ขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ด้าน
โดยกระทรวงทรัพย์ฯ มีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ 6 ด้าน ด้านแรกคือบูรณาการเป้าหมาย Net Zero ให้อยู่ในยุทธศาสตร์ อยู่ในนโยบาย ในแผนระดับประเทศ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ลงไปถึงระดับจังหวัด ท้ายที่สุดลงไปถึงระดับรากหญ้าที่มีความเปราะบางที่สุด และท้าทายที่สุดในการปรับ mind set ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นการสืบทอดโดยตรงจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ให้คนไทย
“การให้ภาคเกษตรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ และส.ส. การจะไปบอกเกษตรกรให้เปลี่ยนวิธีทำนานั้น ถือว่ากล้าหาญชาญชัยอย่างยิ่ง การจะบอกให้เขาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวที่มีน้ำในนาตลอด 3-4 เดือน มาเป็นปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเยอรมันและรัฐบาลไทยกำลังทำแปลงทดลองอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการปลูกข้างแบบเปียกสลับแห้ง คือไม่จำเป็นต้องมีน้ำอยู่ในนาตลอดฤดูการปลูก ช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง เราสามารถเอาน้ำออกจากนาได้ และยังได้ประโยชน์ในแง่ผลผลิตที่เพิ่มอีก 20-30% ใช้น้ำน้อยลงกว่าครึ่ง ใช้พลังงานน้อยลงในการนำน้ำเข้า มีน้ำออกจากนามากกว่าครึ่ง ที่สำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 70% ผมเรียกว่า Agri-tech with Roots คือ มีความเฉลียวฉลาดของเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน ที่นำองค์ความรู้พื้นบ้านมาใช้ในการทำเกษตร”
ทั้งนี้ การเข้าสู่สถานะ Carbon Nuetrality ได้ จะมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นภาคการดูดซับ ส่วนที่สองคือการลดการปลดปล่อยจากภาคการผลิตของไทย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage: CCS) เทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage) ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้คุยกับหน่วยราชการ กระทรวงพลังงาน ในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ วันนี้ต้นทุนยังแพงอยู่สำหรับไทยอยู่ที่ตันละเกือบ 100 เหรียญสหรัฐ จะทำอย่างไรให้ลงมาเหลือ 20-30 เหรียญสหรัฐ
และยังมีอีก 3-4 ประเด็นที่สำคัญ คือ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รูปแบบการลงทุนหลังผ่านพ้นจากโควิด-19 และไม่ต้องการจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่ต้องการเดินไปข้างหน้าให้เป็นสีเขียวยิ่งขึ้น ระบบธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่การเดินหน้านับจากนี้ต้องมีคำว่าสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นอีกไม่กี่สิบปีจากนี้ไป มนุษย์เราจะเจอผลกระทบจากธรรมชาติอย่างเต็มที่แน่นอน ยังมีเรื่อง คาร์บอนเครดิต ที่คนบางกลุ่ม บอกว่ากระทรวงทรัพย์ฯ กำลังจะฟอกเขียว เอาทรัพยากรธรรมชาติมาหากิน ขอเรียนตามตรงว่า ถูกต้องครับ ผมกำลังฟอกเขียวอยู่ ผมกำลังเอาทรัพยากรของไทยมาแปรให้เป็นเงินอยู่ เพราะมีคำบอกว่า มี 3 สิ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้ สิ่งแรกเลยคือ เงิน ทำแล้วได้เงิน ทุกคนทำกันใหญ่ หรือทำแล้วเสียเงินก็จะไม่ทำกัน
นอกจากเงิน คือทำให้เป็นกฎหมาย วันนี้เรากำลังทำกฎหมายกันอยู่ สิ่งสุดท้าย คือ ความตาย เช่น ทุกวันนี้พวกเราใส่หน้ากากกันหมด ก่อนหน้านี้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วถ้ากระทรวงทรัพย์ฯ ออกมาบอกว่า ในช่วงฤดู PM 2.5 ขอให้ทุกคนใส่หน้ากากได้มั้ย รับประกันว่าโดนดุ โดนต่อว่า แต่พอโควิด-19 มา ถ้าไม่ใส่หน้ากากตายแน่นอน เลยใส่กันใหญ่ วันนี้เรายังไม่ต้องไปถึงอันดับที่ 3 แค่อันดับ 1 กับ 2 ก่อน เรามีคาร์บอนเครดิต ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้ทุกภาคในการทำงาน
ด้านการลงทุน สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องมีการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น รัฐบาลเองก็ส่งเสริม e-Procurement , green-Procurement ในการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น กระทรวงทรัพย์ฯ เองในปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้จัดซื้อรถ EV มาใช้งานด้านการจัดส่งเอกสาร หรืองานง่าย ๆ อันไหนที่ทำได้ ทำก่อนให้เป็นตัวอย่าง หรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น อีกส่วนคือ การพัฒนากลไกของตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ
โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำมาตรการ เงื่อนไข ในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดให้เป็นรูปธรรม โดยมาตรการเหล่านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว นอกจากนี้ยังมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจ (อบก.) ที่ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อ ขาย ถ่ายโอน คาร์บอนเครดิตเรียบร้อยแล้ว โดยหากคำนวณจากปี ค.ศ.2025 ที่คาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 388 ล้านตัน และจะต้องลดให้เหลือ 120 ล้านตันในปีค.ศ. 2065 ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ต้องใช้จะคิดเป็นเงิน 3 แสนกว่าล้านบาท เป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่คนไทยและธุรกิจต่าง ๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สถานะ Net zero GHG โดย อบก.ยั ได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ตั้งคณะกรรมการขึ้นซื้อขายคาร์บอนเครดิต สำหรับพลังงานหมุนเวียน โดยมีแพลตฟอร์ม FTIX เกิดขึ้น เวลานี้มีประมาณ 100 บริษัทที่มาซื้อขายคาร์บอนเครดิต กระดานนี้ยังรองรับการเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในโซนเอเชียด้วย
ยังมีภาคสำคัญอีกภาค คือภาคการดูดซับคาร์บอน หรือภาคป่าไม้ ที่กระทรวงทรัพย์ฯ รับผิดชอบ ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่า 31.8% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือ 100 กว่าล้านไร่ จาก 327 ล้านไร่ โดยกรมป่าไม้ กรมอุทธยานแห่งชาติ รวมถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกระเบียบการส่งเสริมการปลูกป่า ทั้งป่าบนบกและป่าชายเลน มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยภาครัฐปลูก เมื่อก่อนเวลาพูดถึงการปลูกป่า ปลูกป่าชายเลน จะคิดถึงเรื่อง CSR แต่วันนี้มันไม่ใช่ CSR อีกแล้ว หลายบริษัทที่ได้พูดคุยเริ่มมองเรื่องการปลูกป่า โดยเฉพาะป่าชายเลนที่ต้นโกงกางสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบนบกถึง 8 เท่าในพื้นที่เท่ากัน บริษัทต่าง ๆ จึงหันมาปลูกป่า และป่าชายเลน เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตมาเป็นรายได้ หรือลดคาร์บอนฟรุตปรินท์ของบริษัทเอง เพื่อรองรับกับมาตรการทางภาษีหรือไม่ใช่ภาษีที่ทั่วโลกเริ่มใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
มาตรการที่กระทรวงทรัพย์ฯ เสนอ คือ มาช่วยกันปลูก แล้วจะแบ่ง 90 กับ 10 คือกระทรวงทรัพย์ฯ เก็บไว้ 10% เอกชนจะได้ 90% รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จะได้รายได้จากการช่วยกันดูแลป่าที่ภาคเอกชนเข้าไปช่วยกันดูแล โดยปี 2565 มีการเตรียมพื้นที่ไว้ 6 แสนไร่เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาปลูกทั้งป่าบนบกและป่าชายเลน มีบริษัทที่เข้าร่วมแล้ว 10 กว่าแห่ง เช่น SCG ปตท. CPAC รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแหงประเทศไทย (กฟผ.) ก็แสดงเจตจำนงเข้ามา
ในเรื่องกฎหมาย ขณะนี้กำลังเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Crimate Change Act ขึ้น จริงๆ แล้วร่างกฎหมายนี้เกือบจะเสร็จอยู่แล้ว แต่ได้ดึงกลับมาปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพราะร่างแรกเป็นภาคสมัครใจ แต่หลังจากประสบภาวะน้ำท่วมติดกัน 2 ปี เจอภัยแล้ง แอลนีโญ ลานีญา ภาคสมัครใจเอาไม่อยู่แล้ว ต้องเป็นภาคบังคับ จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย และเป็นภาคสำคัญในการจัดการทั้งเรื่องก๊าซคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจก เครดิตคาร์บอน มี inventory ที่จะให้เอกชนได้รู้ว่า บริษัทมีคาร์บอนเครดิต หรือคาร์บอนฟรุตปรินท์ มากน้อยเพียงใด คาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อครม. ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
เตรียมเปิดแผนแก้โลกร้อนบนเวที COP27
นายวราวุธ กล่าวว่า จะเดินทางไปร่วมประชุม CPO27 ที่ประเทศอียิปต์ ประเทศไทยจะประกาศให้โลกรู้ว่า สิ่งที่ได้ทำมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ มากน้อยเพียงไร นอกจากเรื่อง NDCs รวมถึงแผนระยะยาวในการลดก๊าซเรือนกระจก จนถึงปีค.ศ. 2065 แล้ว ที่ภูมิใจมากที่สุด คือเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพย์ฯ ได้มีโอกาสลงนามใน Implementing agreement กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับไทย ภายใต้ข้อตกลงปารีส ข้อ 6.2 คือการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตโดยไม่ผ่านตัวกลาง เป็น peer to peer เป็นการแลกเปลี่ยนประเทศต่อประเทศ แตกต่างจากการที่ภาคเอกชนซื้อกันเองระหว่างประเทศ เพราะครั้งนี้ทำให้นามรัฐบาลกับรัฐบาล และการลงนามครั้งนี้ถือเป็นประเทศคู่แรกในโลก นับแต่ COP 26 เมื่อปีที่แล้วจนถึงเวลานี้ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ดำเนินการด้าน crimate change แล้ว implement ออกมาเป็นมาตรการอย่างจริงจัง
“นี่คือสิ่งที่จะไปบอกให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยไม่ได้ดีแต่พูด เราทำ และจะบอกว่า เราทำแล้ว เพราะเราได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม สุพรรณบุรีบ้านผมโดนน้ำท่วมมาเป็นสิบปี แล้วก็ยังท่วมอยู่ และจะท่วมหนักขึ้นไปอีก วันนี้พวกเราตื่นตัว และอยากให้ทุกคนทำเหมือนอย่างที่ประเทศไทยทำ”
สำหรับประเทศไทยสิ่งที่จะได้จากการลงนามถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตกับสวิตเซอร์แลนด์ โดย Implementing agreement ที่ลงนามไป เป็นจุดเริ่มต้นให้กรุงเทพฯ มีการปรับเปลี่ยนรถเมล์ 500 คัน จากที่มีอยู่ 5,000 กว่าคัน เป็นรถ EV 100% และจากนี้ก็จะเปลี่ยนรถเมล์ทั้ง 5,000 คันมาเป็น EV 100% นี่คือความพยายามที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่ นอกจากนี้ยังมี TCAC (Thailand Climate Action Conference) หรือการจัดประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ที่จำลองการประชุม COP มาไว้ที่ไทย มีทั้งภาคเอชน ภาครัฐ กลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 14 กลุ่มจังหวัดเข้าร่วม เพื่อให้แต่ละกลุ่มจังหวัดนำเสนอแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมีคนรุ่นใหม่ นักเรียน เพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ไม่ได้มีเพียงรัฐบาลที่กำลังตื่นตัวอยู่ แต่คนไทยทั้ง 67 ล้านคน ได้รับผลกระทบ และต้องการให้ทุกประเทศตื่นตัวมาแก้ไขปัญหาด้วย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ประเทศไทยได้ดำเนินการ และเป็นมาตรการที่สามารถทำได้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย รวมถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ฉะนั้น สิ่งที่จะนำเสนอใน COP27 ที่ประเทศอียิปต์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศใดทำได้
“เราต้องทำวันนี้ เพราะถ้าไม่ทำ ใครจะทำ ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เริ่มมาหลายสิบปีแล้ว จะไปเริ่มทำวันไหน ขอบคุณ GCNT ที่เป็นการรวมตัวของทุกคนมาแก้ไขปัญหา จนวันนี้ภาคเอกชนนำหน้าภาครัฐไปแล้ว ตอนแรกภาครัฐเริ่มตื่นตัว มาผลักดันภาคเอกชน มาวันนี้ ภาครัฐตามภาคเอกชนไม่ทันแล้ว แต่ก็กำลังพยายามตามให้ทัน การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม climate change นั้น ทำคนเดียวไม่ได้ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำคนเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน GCNT เป็นเครื่องยืนยันว่า พวกเราต้องทำร่วมกัน พวกเราต้องทำด้วยกัน เพราะว่า ด้วยกัน เท่านั้น ทุกอย่างจะเป็นจริงได้ together possible”
ธุรกิจจริงจังลดปล่อยก๊าซแล้ว 8 ล้านตันคาร์บอน
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้กล่าวถึง ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของสมาชิก GCNT ว่าตามที่สมาชิกได้ประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยแสดงความมุ่งมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 ขณะนี้สมาชิกของสมาคมได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว อย่างน้อยประมาณ 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านโครงการต่างๆ เปรียบเสมือนการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่าหนึ่งล้านหกแสนคัน
งาน GCNT Forum 2022 ปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแสดงความพร้อมของภาคเอกชนที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตาม BCG Model และตามแนวคิด Open. Connect. Balance. “การเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย ปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งของแนวคิดเหล่านี้ มาจากความตระหนักรู้และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกยังอยู่ในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด และมีความเสี่ยงว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะถูกละเลย โดยภาคธุรกิจต้องร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ เตรียมรับมือกับผลกระทบในเรื่องนี้ให้ทันท่วงที ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติ ความมุ่งมั่น ทุ่มเทกำลังปัญญาและทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และ SME โดยยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดและกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิผล พร้อมทั้งจัดทำรายงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงาน
“การดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมการพัฒนาและส่งมอบคุณค่าแก่สังคม จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งหรือ Resilience ขององค์กรและของระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป” นายศุภชัย กล่าว