สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมย้ำผ่านสื่อเปิดบัญชีม้า จำคุกสูงสุด 3 ปี และหากทำตัวเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว โทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี เพราะพบผู้กระทำผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเฉลี่ยจากคนที่แจ้งความออนไลน์เข้ามาในระบบอยู่ที่ประมาณวันละ 600 เรื่อง พร้อมร่วมเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ตอกย้ำถึงภัยกลโกงที่ยังคงแพร่ระบาด ตามโครงการ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” หลังจากที่มีพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินผ่านวิธีการทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ว่าที่พันตำรวจเอก พิบูลสุขญ์ รติเวโรจน์กุล ผู้กำกับการ ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี / เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี ระบบ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร./PCT) กล่าวว่า บัญชีม้า เป็น บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ที่ถูกมิจฉาชีพนำมาใช้สำหรับเป็นช่องทางการรับเงินและถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวได้ โดยบัญชีม้าสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งจากการหลอกลวงข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำบัญชีในชื่อของคนนั้น ๆ ไปใช้ หรือจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี หรือรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถพบได้อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการขายบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเปิดเผย นอกจากจะมีบัญชีม้าแล้ว ก็ยังมีซิมม้า อันได้แก่ ซิมการ์ดโทรศัพท์ที่เจ้าของเปิดใช้งานเพื่อให้มิจฉาชีพที่ซื้อบัญชีม้าสามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีไปผูกกับ mobile banking เพื่อใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้แถลงผลการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง พร้อมกับประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบ เพื่อเข้าใจหลักการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ดังนี้ 1. ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บัญชีม้า) 2. ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาบัญชีม้า) และ 3.ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาซิมม้า) สำหรับ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือซิมม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“นับตั้งแต่ที่มีการออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ก็ยังคงพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้าอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยจากคนที่แจ้งความออนไลน์เข้ามาในระบบอยู่ที่ประมาณวันละ 600 เรื่อง ซึ่งบัญชีม้ามีทั้งกลุ่มที่ถูกหลอกลวงให้เปิดบัญชี รวมถึงกลุ่มที่รับจ้างเปิดบัญชี นอกจากนี้ปัจจุบันรูปแบบบัญชีม้าซิมม้า ที่พบเพิ่มเติมคือ คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในไทยและสามารถเปิดบัญชีธนาคารและเบอร์โทรศัพท์ได้ เมื่อคนต่างด้าวเปิดบัญชีแล้ว และส่งบัญชีม้าพร้อมกับซิมม้าตลอดจนวิธีการโอนให้คนร้ายแล้ว เจ้าของบัญชีที่เป็นคนต่างด้าวก็จะเดินทางออกนอกประเทศไป จนทำให้การติดตามตัวเป็นไปค่อนข้างยาก อีกทั้งเรื่องบัญชีม้ายังคงเป็นเรื่องที่ทางเราต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ”
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้ผสานความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเครือ เผยแพร่โปสเตอร์และสื่อวีดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และ บัญชีม้า ตอกย้ำให้ประชาชนได้เข้าใจ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง และตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์มากขึ้น อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นำสื่อโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบัญชีม้าไปเผยแพร่ภายในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เกือบทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เผยแพร่สื่อวีดีทัศน์เกี่ยวกับพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ผ่านทางจอแสดงตารางเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ภายในสถานีเกือบทุกสถานี
ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงย้ำเตือน ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง และหากถูกหลอกหรือมีเหตุสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อคดีออนไลน์ เช่น กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงและแอปดูดเงิน เป็นต้น ให้ตั้งสติ เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น สลิปการโอนเงิน ช่องทางติดต่อกับคนร้าย เบอร์โทรศัพท์ เวลาที่ติดต่อ เลขที่บัญชีของคนร้าย ตู้เอทีเอ็มสาขาที่โอนเงิน เป็นต้น แล้วแจ้งติดต่อไปยังธนาคารของผู้เสียหายที่โอนเงินไปทันที ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุของธนาคาร เพื่อให้ระงับธุรกรรมชั่วคราว และแจ้งตำรวจอย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com เพื่อพบพนักงานและสอบสวนปากคำอีกครั้ง หรือเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้ เพราะธนาคารจะระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อระงับธุรกรรมต่อไป ทั้งนี้สามารถปรึกษาหรือขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1441 หรือ 081-866-3000