วันที่ 17 ธันวาคม 2565 – หลักสูตรสหสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน CUGS Special Talk #8 “Visionary Innovation 2023: Transformative Leaders In Innovation” เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีบัณฑิตวิทยาลัย โดยได้รับเกียรติจากคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปฐกถาพิเศษ กล่าวถึง ทิศทางเทคโนโลยีของไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคนให้มีทักษะดิจิทัล ร่วมทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการแข่งขันด้านดิจิทัลเทคโนโลยี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ “Visionary Innovation 2023: Transformative Leaders in Innovation” โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือซีพี ได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนา ร่วมกับคุณสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการหลักสูตรฯ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ สะท้อนภาพความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและนวัตกรรมโดยกล่าวว่า โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีทั้งวิกฤตและโอกาสขึ้นอยู่กับปรับมุมองเพื่อจะรับความท้าทายของโลก ทั้งนี้ เครือฯ ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาโดยตลอดกว่า 100 ปีจนถึงปัจจุบัน อาทิ การพัฒนาด้านไบโอเทคโนโลยี การศึกษาดีเอ็นเอมนุษย์ เพื่อพัฒนาอาหารให้เป็นยา ช่วยส่งเสริมในด้านสุขภาพแบบรายบุคคล เทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์ เป็นต้น
ประธานคณะผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์ข้อมูลฯ กล่าวอีกว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมมีปัยจัยที่สำคัญคือ การมีดิจิทัลพาร์ทเนอร์ที่ช่วยเกื้อหนุนร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า เครือฯ ให้โอกาสคนรุ่นใหม่โดยเปิดให้มีเวทีเพื่อแสดงความสามารถ พร้อมให้โอกาสเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ และท้าทายตนเองเพื่อเปิดมุมมองและก้าวล้ำหน้าทั้งด้านธุรกิจ ดิจิทัล และความยั่งยืน โดยมีค่านิยม 6 ประการเครือซีพีเป็นแนวทาง
ด้าน คุณสวัสดิ์ อัศดารณ จาก IBM กล่าวว่า ปัจจุบัน Customer Journey เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ไทยสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว นวัตกรรมจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อนำไปใช้ให้ตรงจุด ซึ่งตลอดกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงได้เร็ว ตอบโจทย์ และเป็น Green Computing พร้อมทั้งกล่าวว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 บุคลากรด้านดิจิทัลเทคโนโลยีขาดแคลน ดังนั้น การพาร์ทเนอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเป็นอีกทางหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
ด้าน คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ จาก Microsoft กล่าวให้ความเห็นว่า ดีเอ็นเอของการดำเนินธุรกิจเป็นแกนหลักที่จะนำพาองค์กรให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ผู้นำองค์กรเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางธุรกิจและความยั่งยืนด้วยการสร้างคุณค่าที่ดีต่อลูกค้า พนักงานและโลกใบนี้ ด้วยการสร้างนวัตกรรม เปิดกว้างฐานความร่วมมือ พัฒนาต่อยอดเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน
ในขณะที่ รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ได้กล่าวแนะแนวทางการศึกษากับนวัตกรรมว่า ไม่เพียงต้องก้าวให้ทัน แต่ต้องก้าวล้ำนำเทคโนโลยี สร้างความแตกต่างโดดเด่นในธุรกิจด้วยทักษะดิจิทัล ผู้ที่ปรับตัวและเข้าใจแก่นสาร ค้นพบ Core Value ของนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่สร้างการเปลี่ยนแปลง สถาบันต้องการบ่มเพาะ Incubator ที่มีภาวะผู้นำ Growth Mindset และความคิดสร้างสรรค์เชิงดิจิทัล เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้คู่กับการยกระดับคุณค่าของธุรกิจได้อย่างทันสมัยและยั่งยืน
นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีผู้บริหารด้านการศึกษา Dr.Andreas Weigend, Former Professor Standford University และที่ปรึกษา Agoda, Amazom, Alibaba และ ผศ.ดร.กวิน อัศวานันท์ กรรมการบริหารหลักสูตร ร่วมเสวนาในห้วข้อ “Visionary Innovation 2023: Future of Innovation”
งาน CUGS Special Talk #8 “Visionary Innovation 2023” จุฬาฯ โดย หลักสูตรสหสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคณาจารย์ นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วม นับเป็นอีกเวทีหนึ่งที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการศึกษาและแนวโน้มการพัฒนานักศึกษาซึ่งจะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต
สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ เพจ Graduate School Chulalongkorn University : https://fb.watch/htyqp9KgBo/