เครือซีพีผนึกกำลังทุกภาคส่วนพัฒนา ฟื้นฟู ทะเลไทยให้ยั่งยืน ตามพันธกิจ SEACOSYSTEM

เราปรับ โลกเปลี่ยน We Shift, World Change เป็นรายงานพิเศษด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)กับไทยพับลิก้า เพื่อนำเสนอ วิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน ในบริบทของธุรกิจขององค์กร การมีส่วนร่วมพัฒนาและสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร เช่น คู่ค้า ลูกค้า ในห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับตัว และการมีส่วนร่วมยกระดับชุมชนและสังคม ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

บนเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) ได้ทำให้บริษัทในเครือก้าวขึ้นสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนระดับโลก ทั้งการได้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices การเป็นสมาชิกความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index การได้รับการประเมินที่ดีจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) และการได้ CG 5 ดาวจากโครงการ CGR2560 ของสถาบันกรรมการบริษัทไทย รวมถึงแนวคิด SEACOSYSTEM เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการ ในฐานะที่เครือซีพี เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่เกี่ยวข้องกับทะเลไทย

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้นตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่ง และมีการตั้งสำนักบริหารความยั่งยืนขึ้นมาดูแล โดย SEACOSYSTEM เป็นหนึ่งในพันธกิจด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ประจวบกับเวลานั้นมีทั้งเรื่องปลาป่น เรื่องหมอกควัน เรื่องเกษตรพันธสัญญา

โดย SEACOSYSTEM ได้ตั้งสัตยาบันกับภาคประชาชนว่า จะแก้ไขปัญหาเรื่องทะเล ที่นอกจากจะทำงานร่วมกับชาวบ้านแล้ว จะมีตัวชี้วัดต่าง ๆ การผลักดันนโยบาย การพัฒนาชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้

SEACOSYSTEM จึงมีเป้าหมายคือการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล แต่มีผู้ได้ประโยชน์คือ เกษตรกร ชาวประมงที่ได้ประโยชน์

จากการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน คือ

ด้านแรก มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือ ได้กำไรหรือขาดทุน โดยชาวบ้านต้องไม่ขาดทุน คำพูดของชาวบ้าน คือ อนุรักษ์ที่กินได้ ไม่ใช่ทำแล้วเขาต้องเสียเงินด้วย โดยเครือซีพีจะนำเทคโนโลยี หรือ องค์ความรู้ไปให้ ไม่ได้นำเงินไปให้ เพราะมีหลายโครงการที่บริษัทมาทำ CSR เสร็จแล้วหยุดจ่ายเงิน โครงการก็ล้ม นายศุภชัย จึงบอกว่า ให้ไปตั้งต้นให้ชาวบ้านเพื่อให้เขาเดินหน้าต่อไปได้

“คำว่า อนุรักษ์ที่กินได้ เป็นคำของชาวบ้าน ส่วนตัวชี้วัดที่บอกว่า กินได้จริง ๆ คือ การวัดรายได้ วัดต้นทุน แล้วเทียบกันระหว่างเขาไม่ทำโครงการนี้ กับเมื่อทำโครงการนี้แล้ว มีการสอนเขาทำบัญชี หลายโครงการที่ประสบความสำเร็จ ส่วนการฟื้นฟูทะเลนั้น เราวัดจากจำนวนปูที่ปล่อยลงทะเล และชาวบ้านเองก็บอกว่ามีปูเพิ่มขึ้น โดยมีความเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันที่เริ่มทำโครงการ”

ด้านที่สอง การผลักดันนโยบาย เนื่องจากการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล มีองค์ประกอบที่เกี่ยวกับทะเลเยอะมาก ตั้งแต่ ชาวประมง ว่าจะจับปลาอย่างไร เนื่องจากทะเลไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เหมือนพื้นที่การเกษตรที่มีโฉนด ขณะที่ทะเลเป็นทรัพยากรส่วนรวม ถ้ามีเรือขนาดใหญ่ อุปกรณ์ทันสมัยระดับทำลายล้างได้ ก็จะจับสัตว์น้ำได้มาก เรื่องใหญ่เกี่ยวกับการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล จึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการทะเลให้มีการใช้ร่วมกันได้ตั้งแต่คนตัวเล็ก ประมงพื้นบ้าน ที่อาจจะมีเพียงแห หรือออกไปตกปลา กับเรือลำใหญ่มากที่มีอวนลาก ต่อมาคืออุปกรณ์ประเภทไหนที่ควรจะผิดกฎหมาย ไม่ควรบอกว่าใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ ปลาก็หมดทะเล จึงต้องมีการผลักดันด้านนโยบายที่มีความยั่งยืนเทียบเท่ากับต่างประเทศ

ด้านที่สาม การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทุกคนได้รับผลกระทบจากปลาที่น้อยลง แต่กลุ่มที่ลำบากที่สุด คือ ชาวประมงพื้นบ้านที่มีประมาณ 80% ของทั้งหมด เป็นชาวประมงที่มีเรือลำเล็ก อุปกรณ์ก็เล็ก ปลาที่น้อยลงไปทำให้เดิมออกไปหาปลาแล้วเลี้ยงได้ทั้งครอบครัว กลายเป็นต้องลำบากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาชีพนี้ไม่คุ้มที่จะทำ ต้องไปทำงานอย่างอื่น หรือไปหางานทำในกรุงเทพฯ ทำให้ประมงพื้นบ้านค่อย ๆ หายไป แต่ก็เป็นกลุ่มประมงที่เห็นว่าควรดำรงไว้ เครือซีพีจึงได้เข้าไปทำงานกับประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้ใน 22 จังหวัดที่อยู่ติดทะเล จนหลายชุมชนที่เข้าไปทำได้รางวัลมา 7 รางวัล โดยเกียรติยศสูงสุด คือ ได้รับพระราชทานโล่รางวัล เกษตรกรดีเด่นในงานพืชมงคล 7 รางวัลใน 6 ปีที่ผ่านมา เป็นรางวัลชนะเลิศ 5 รางวัล อีก 2 รางวัลได้รองชนะเลิศ

ด้านที่สี่ การพัฒนาชุมชน การทำงานร่วมกับชาวบ้าน ร่วมกับชุมชน การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ การอนุรักษ์ต้องกินได้ ฉะนั้น จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ชาวบ้านไปต่อได้ คือ ชาวบ้านต้องสามารถเลี้ยงชีพได้ เช่น การพัฒนาร้านอวนชาวเล ให้ชาวบ้านรวมตัวเป็นสหกรณ์สร้างรายได้ มีกำไร ไม่ต้องไปซื้ออวนจากที่อื่น ทำให้มีเงินหมุนเวียน หรือนำมาตรฐานสมัยใหม่ไปช่วยในบางชุมชน จนสามารถเลี้ยงปลา หรือจับปลา จนมีคุณภาพ สามารถส่งเข้าโมเดิร์นเทรด อย่างแมคโคร โลตัส ได้สำเร็จ ทำให้จากเดิมที่หาเช้ากินค่ำ กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมขึ้นมา

ด้านที่ห้า สำคัญที่สุด คือการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เช่น ธนาคารปูม้า ที่ใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า Seaco Incubator (นวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำระบบอัตโนมัติ) มาพัฒนาธนาคารปู จากรูปแบบเดิมของชาวบ้าน ขณะนี้ติดตั้งในไทยแล้ว 21 แห่ง ล่าสุด ส่งมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาของมาเลเซีย เพื่อติดตั้งในมาเลเซีย 3 แห่ง จากนี้ก็จะขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นในประเทศอื่นด้วย

 

เครือซีพีส่งมอบ Seaco Incubator ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาของมาเลเซีย

 

“ในเรื่ององค์ความรู้นั้น เราจะโฟกัสในส่วนที่คิดว่าให้แล้ว ต้องนำไปสู่การอนุรักษ์ที่กินได้ องค์ความรู้ที่ให้ส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่เขาสามารถประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้ต่อไปได้ เช่น การทำบัญชี การขายของออนไลน์ หรือการพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าเพื่อเข้าสู่โมเดิร์นเทรด หรือทำอย่างไรเพื่อให้ได้ GAP (การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices) โดยเน้นเฉพาะทาง เพื่อให้ชาวบ้านพัฒนาไปสู่การเกษตรยุคใหม่ที่ตามกาลเวลาได้”

ดร.อธิป กล่าวว่า โครงการต่าง ๆ ที่เข้าไปทำกับชาวบ้านนั้น เกิดจากความต้องการของชาวบ้านเอง ต้องเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ชาวบ้านได้ ไม่อย่างนั้นเขาไม่ทำ แต่อาจจะมีการเสริมด้วยเทคโนโลยี จากเครือซีพี แต่แม้ว่าเครือซีพีจะให้เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ แต่หลายโครงการมาจากชาวบ้านเอง โดยซีพีร่วมทำ เช่น การเลี้ยงหอยแมลงภู่ ที่ชาวบ้านต้องมีการทำซั้งทุกปี แต่ละปีจะขอเงินจากบริษัทฯ ก็คุยกับชาวบ้านการขอไปเรื่อย ๆ จะไม่ยั่งยืน ชาวบ้านก็คิดว่า ถ้าขอเงินสนับสนุนซั้งที่วางไว้ที่จ.นครศรีธรรมราชเพียงครั้งเดียว เมื่อ 6 เดือนผ่านไป จึงเก็บหอยแมลงภู่ไปขาย ซั้งบางส่วนอาจจะถูกทำลาย แต่จะมีเชื้อหอยแมลงภู่อยู่ ก็นำไปขายฝั่งอันดามัน ที่จ.ตรัง เพื่อเลี้ยงหอยแมลงภู่ต่อ ทำให้ 3-4 ปีที่ผ่านมามีเงินหมุนเวียน นี่เป็นสิ่งที่เกษตรกรคิดเอง นอกจากเป็นโครงการที่ชาวบ้านต้องการแล้ว ยังต้องตอบโจทย์คนหมู่มากด้วย สามารถขยายผลไปทำในหลายพื้นที่ได้ เพราะชาวบ้านจะเสนอโครงการมามาก แต่หลายโครงการทำได้เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเครือซีพีมองว่าควรจะขยายผลได้ อย่างธนาคารปูม้า ที่ขยายผลไปถึงมาเลเซีย

“SEACOSYSTEM เป็นโครงการที่ดี มีคนมาขอดูงาน และได้รับรางวัล รวมทั้งเป็นโครงการที่ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะในประเทศไทย แต่ตอบโจทย์ในประเทศที่มีปู อย่างมาเลเซียที่เข้ามาดูงานที่จังหวัดปัตตานีและขอไปติดตั้ง และประเทศอื่นที่สามารถนำรูปแบบนี้ไปใช้ได้อีก เช่น ฟิลิปปินส์ที่ติดต่อมา แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ”

ดร.อธิป กล่าวว่า “เครือซีพีจะมีการผลักดัน SEACOSYSTEM อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นคำมั่นสัญญาของเครือซีพี และคุณศุภชัย ได้กล่าวไว้ว่า แม้เครือซีพีจะไม่ได้ทำธุรกิจประมง แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานของเราเกี่ยวข้องกับทะเล วัตถุดิบบางส่วนมาจากทะเล และใช้ทะเลในบางส่วน”

เพราะฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเราในฐานะบริษัทไทยที่จะต้องฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เพราะเป็นสมบัติของคนในชาติ คือ ทะเลเป็นเรื่องแปลก เพราะบอกไม่ได้ว่าเป็นของใคร ไม่เหมือนพื้นที่แปลงเกษตรที่บอกว่าได้ว่า พื้นที่นี้ของใครบ้าง แต่ทะเลเป็นของทุกคนจริง ๆ ทุกอย่างที่เราทำส่งผลกระทบต่อทะเล

วิธีมองจึงต่างกับภาคเกษตร แต่ที่สังเกตได้ คือ บางครั้งเวลาทำโครงการ สังคมให้ความสำคัญในเรื่องของป่า มากกว่าทะเล เวลาขึ้นเครื่องบินแล้วมองลงมา เห็นป่าที่หายไปได้ชัด แต่ถ้าบอกว่า ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ความหนาแน่นของปลาหายไป จะไม่มีใครสนใจ เพราะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น คนจะไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่เมื่อเทียบกับป่าที่หายไป คนจะตื่นเต้นกับเรื่องป่ามากกว่า

อย่างไรก็ตาม ดร.อธิป กล่าวว่า ในท้องทะเลขณะนี้มีปัญหาใหม่ขึ้นมา คือเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ปลาทูที่หายไป ถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน เวลาคุยเรื่องนี้จะบอกว่าเป็นเพราะมนุษย์ เพราะอุปกรณ์จับปลา แต่จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า อาจจะไม่ใช่เกิดจากอุปกรณ์ทำลายล้างอย่างเดียว และหลังจากมีการจัดการ ก็ทำให้ปลาเริ่มกลับมา แต่เมื่อมีเรื่องโลกร้อน และเรื่องน้ำที่เริ่มเปลี่ยนแปลงด้วย คุณภาพน้ำเน่าเสีย ขยะทะเล ทำให้สิ่งที่เริ่มดีขึ้น ลดลงไปใหม่ โดยเรื่องโลกร้อน ขยะทะเล แก้ยาก เพราะเป็นปัญหาอีกระดับหนึ่ง เป็นปัญหาระดับโลก

“ตอนเริ่มทำเรื่องการฟื้นฟูท้องทะเลนั้น ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์และเครื่องมือจับปลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาป่น หรืออุปกรณ์จับปลาแบบทำลายล้าง แต่ตั้งแต่มีพระราชกำหนดประมงออกมา รวมทั้งการอนุรักษ์ ทำให้ชาวบ้านมีกฎกติกามากขึ้น ปัญหาเหล่านี้จึงเบาบางลงไป ส่วนชาวบ้านในชุมชน แม้จะพูดเรื่องอุปกรณ์ทำลายล้างเป็นอันดับหนึ่งที่ทำให้ปลาหายไป แต่ลดลงมาก ถ้าเทียบกับตอนแรกที่เครือซีพีเข้าไปทำโครงการ เพราะมีการออกกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่ชาวบ้านเริ่มพูดเรื่องโลกร้อนแบบประปราย ค่อย ๆ พูดถึง และจะกลายเป็นปัญหาใหม่ที่เข้ามาแทนเรื่องอุปกรณ์ทำลายล้างที่จะค่อย ๆ ลดลง โดยเรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาระยะยาว”

 

ดร.อธิป กล่าวว่า ในเรื่องทะเลนั้น เครือซีพีทำในส่วนหนึ่ง แต่ผู้ที่จะทำให้ทะเลเปลี่ยนมากที่สุด คือประชาชน ผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมาย กฎระเบียบ ทั้งหมดเป็นความตระหนักรู้ ความรู้ ความเข้าใจของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ สุดท้าย เรื่องเหล่านี้จะดีเองเหมือนในหลายประเทศ ที่ผ่านมา คุณศุภชัย จึงเน้นเรื่องการศึกษามาก เพราะเห็นว่า การศึกษาเปลี่ยนทุกอย่าง ถ้าคนไทยมี Mindset ที่ถูกต้อง ที่ควรจะเป็น เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ต้องทำ แต่จะเป็นกลไกทางสังคมที่เป็นไปเอง

บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) ได้ทำให้บริษัทในเครือก้าวขึ้นสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนระดับโลก ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิด SEACOSYSTEM เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางทะเลเชิงบูรณาการ ในฐานะที่เครือซีพี เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่เกี่ยวข้องกับทะเลไทย

ที่มา ไทยพับลิก้า