WEF ยกจีนกุญแจสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ชี้อะไรที่กระทบจีน ย่อมกระทบถึงทุกประเทศ

บอร์เก เบรนด์ ประธาน Wolrd Economic Forum (WEF) แสดงความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน โดยยอมรับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของจีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของโลก และสิ่งที่มีผลกระทบต่อประเทศจีน ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของโลกตามไปด้วย

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีของ WEF 2022 จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 22 – วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม โดยการหารือในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการฟื้นตัวหลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด วิกฤตสงครามและความขัดแย้งในยูเครน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานระบุว่า ในส่วนของการเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายในระยะสั้นมากมาย ซึ่งรัฐบาลจีนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและกำลังเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การขยายอุปสงค์ภายในประเทศ การลดการพึ่งพาการส่งออก และการปลูกฝังอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อประกันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดยในวาระของการประชุม WEF จะจัดให้มีกิจกรรมส่วนหนึ่งที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของจีน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้อยู่ระดับต่ำโดยเฉพาะ

โดยในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคมนี้ วิทยากรชั้นนำระดับโลกอย่าง จอห์น ทัตเทิล รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ของ NYSE Group Inc, โจนาธาน เครน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Krane Shares และ มาร์กอส ทรอยโจ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (NDB) จะเข้าร่วมเวทีประชุม เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนของจีนและแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2022

ขณะที่ในวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม เซียะเจินฮัว ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจีน จะเข้าร่วมเวทีประชุมในหัวข้อ ‘Safeguarding Our Planet and People’ ซึ่ง จอห์น เคอร์รี ผู้แทนประธานาธิบดีพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย นับเป็นการปฏิสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างเซียะกับเคอร์รี นับตั้งแต่การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2021 ที่เมืองกลาสโกว์

นอกจากนี้ ในวันอังคารยังมีกำหนดการประชุมที่มุ่งเน้นความพยายามของจีนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ขณะที่รัฐบาลจีนเดินหน้าด้านพลังงานสะอาด โดยมีวิทยากรชั้นนำอย่าง แดเนียล เยอร์กิน รองประธาน S&P Global และ จือกังจาง ประธาน State Grid Corporation of China จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

ขณะเดียวกันคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และสภาแห่งรัฐ ได้ออกแนวทางสนับสนุนบริษัทวัฒนธรรมดิจิทัลทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ให้สามารถจดทะเบียนในตลาด STAR ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ด้านเทคโนโลยีของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เพื่อขยายช่องทางการเงินของบริษัทเหล่านี้

นอกจากภายใต้แนวทางดังกล่าว ทางการจีนยังเตรียมเดินหน้าสร้างศูนย์นวัตกรรมระดับประเทศและห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการแปลงเป็นดิจิทัลเชิงวัฒนธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งให้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลได้เร็วขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินงานยังครอบคลุมถึงความพยายามในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลวัฒนธรรมในระหว่างการประมวลผล แจกจ่าย และจัดเก็บ แนวทางดังกล่าวแนะนำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย สร้างระบบกำกับดูแลความปลอดภัย และปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินสำหรับข้อมูลทางวัฒนธรรม

แนวทางดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีความพยายามในการศึกษาและกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสินค้าและบริการด้านวัฒนธรรมให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคส่วนนี้มากขึ้น

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนแสดงท่าทียืนยันจุดยืนในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยระบุชัดว่า จีนจะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดีและยั่งยืน และสนับสนุนให้บริษัทดิจิทัลเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

 

อ้างอิง:

ที่มา THE STANDARD