‘วาเลนไทน์’ ในช่วงวิกฤติโควิด-19

เรียกว่าผ่านเรื่องหนักๆ กันตั้งแต่ต้นปีจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่นั้นต้องชะงัก

เช่นเดียวกับเม็ดเงินที่ควรไหลสะพัดอย่างมากในช่วงดังกล่าว เทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ที่กำลังจะถึงจึงเป็นความหวังของพ่อค้าแม่ค้าคนขายของและรัฐบาลที่หวังว่าเม็ดเงินการจับจ่ายใช้สอยจะเข้ามาช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนหมุนต่อไปได้

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศวันแห่งความรักที่ใกล้จะถึงเข้าทุกที จึงขอเล่าถึงเกร็ดเล็กน้อยอ่านสบายเกี่ยวกับ วันแห่งความรักของต่างประเทศว่าเหมือนหรือต่างจากไทยอย่างไร ทั้งในแง่ของการเฉลิมฉลองและในแง่ของสาระตัวเลขที่เทศกาลนี้มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจ

ว่ากันว่า สมัยก่อนมนุษย์มีอำนาจมาก เพราะมีอวัยวะเป็นสองเท่า เหมือนแฝดที่มีสองหน้า สี่แขน สี่ขา มีเพียงหัวและหัวใจเท่านั้นที่มีเพียงหนึ่ง เพราะอำนาจที่มาก มนุษย์จึงท้าทายเทพเจ้าทำให้ซุสราชาแห่งเทพต้องกำราบโดยลงโทษใช้สายฟ้าแยกร่างจนเหลือสองขาสองมือแบบในปัจจุบัน

เพราะความคิดถึงร่างกายอีกส่วนที่หายไปทำให้มนุษย์นั้นไม่เป็นอันกินอันนอน ร้อนถึงเทพเจ้าเพราะมนุษย์นั้นตรอมใจจนไม่มีการสักการะบูชาเทพเจ้า เทพอพอลโลจึงลงมาช่วยเอาด้ายเชื่อมร่างกายที่ขาดหายพลัดพรากจากกัน ทำให้ มนุษย์จึงต้องตามหาร่างกายอีกส่วนที่ขาดหายซึ่งแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่เดิมที่ขาดกันไม่ได้ เพื่อมาเติมเต็มกันและกัน จนเกิดเป็นตำนาน Soulmate ในเทพปกรณัมกรีกนั่นเอง

ความโรแมนติกจากตำนานความเชื่อนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลเฉลิมฉลองวันแห่งความรักที่มีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมาก ตัวเลขจาก National Retail Federation ของสหรัฐ ประมาณการว่าในช่วงวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดจาก Social distancing และสถานการณ์โควิด แต่การจับจ่ายใช้สอยของคนสหรัฐในเทศกาลนี้จะยังคงสูงถึง 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์

ประมาณการยังพูดถึงสถิติจากการสำรวจความคิดเห็นว่า กว่าครึ่งของคนสหรัฐก็ยังคงจะเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้ภายใต้ข้อจำกัดในช่วงโรคระบาด โดยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยนิยมเฉลิมฉลองด้วยการใช้จ่ายกับอาหารค่ำนอกบ้านหรือการท่องเที่ยวก็ลดลงจาก 34% จนเหลือเพียง 24% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่ตัวเลขของผู้ที่จะเฉลิมฉลองด้วยมื้อพิเศษภายในบ้านของตนเองกลับทะยานพุ่งถึง 41% ซึ่งถือเป็น New normal ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงโควิดอย่างแท้จริง

เพราะพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ยอด การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวในช่วงเทศกาลนี้ที่เคยสูงถึง 196 ดอลลาร์ ลดลงเป็น 165 ดอลลาร์ต่อหัว ทำให้ยอดรวมประมาณการใช้จ่ายและเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนในสหรัฐอยู่ที่ 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยลดลงจาก 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ในแง่ของการพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยพบว่า ตลาดออนไลน์นั้นเป็นที่นิยมที่สุดถึง 41% ขณะที่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าลดราคาลดลงมาอยู่ที่ 29% และ 28% ตามลำดับซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

เพราะการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ในสหรัฐนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในวงของคู่รัก แต่ยังรวมถึงการให้ของขวัญแก่เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย เพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของเล็กๆ น้อยๆ จำพวกลูกกวาด ช็อคโกแลต ของหวาน การ์ดอวยพร การจับจ่ายใช้สอยนั้นได้กระจายตัวในหลากธุรกิจ จนดันให้ยอดการใช้จ่ายในสหรัฐนั้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ

ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ ห้างร้านน้อยใหญ่ในไทยสามารถเรียนรู้จากกรณีศึกษาในสหรัฐนี้เพื่อปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจได้ เพราะ พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับเปลี่ยนสู่ New normal นี้มีความคล้ายคลึงกัน ธุรกิจต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและจะต้องผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้

 

โดย กันต์ เอี่ยมอินทรา

ที่มา  https://www.bangkokbiznews.com/