นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยและอุปสรรคต่อเศรษฐกิจไทยที่ควรจะเฝ้าระวังในปีนี้ว่า ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงตามหลังประเทศอื่นๆ ตัวเลขจีดีพีรายไตรมาสของไทยยังคงอ่อนแรงอยู่ เนื่องจากการค้าโลกชะลอตัวลง รวมถึงมีปัจจัยท้าทายภายในประเทศ เช่น ความล่าช้าของเรื่องงบประมาณรายจ่าย เพราะฉะนั้นประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงไตรมาสที่แล้ว เราคาดว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางอยู่ที่ราว 3% ซึ่งยังไม่อยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่จะเติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ที่จะต้องมีอัตราการเติบโตราว 5% รัฐบาลไทยควรจะปฏิรูปในเรื่องนวัตกรรม การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการเติบโตของเมืองและภูมิภาค รวมถึงลงทุนในเรื่องทุนมนุษย์ ไม่เพียงแต่ไทยจะสามารถบรรลุในเรื่องนั้นได้จากการระดมทรัพยากรมากขึ้น แต่ยังผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ประเทศไทยยังคงมีขีดความสามารถที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มี เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จะทำการปฏิรูปเหล่านี้เช่นกัน ไทยยังคงมีพื้นที่ทางการคลังที่จะลงทุนในเศรษฐกิจ ในทุนมนุษย์ ในโครงสร้างพื้นฐาน และปฏิรูปเศรษฐกิจให้ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนไม่ใช่แค่เม็ดเงินเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนอีกด้วย
โดยธนาคารโลกประจำประเทศไทยอาจปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้และปีหน้าลงอีก เพราะอุปสรรคต่างๆดังที่ได้กล่าวไป อาทิ การชะลอตัวของการค้าโลก งบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้าซึ่งจะลามไปจนถึงปีงบประมาณหน้า และจะส่งผลกระทบต่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มต้น โดยธนาคารโลกคาดว่าจะเผยแพร่รายงานการคาดการณ์ดังกล่าวในช่วงเดือนเมษายนนี้
เมื่อถามว่าธนาคารโลกมองเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยอย่างไร นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า เท่าที่ดูในรายงานของธนาคารโลกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อก็ยังคงมีในระบบเพราะเราใช้มาตรการตรึงราคา แรงกดดันอาจยังแฝงอยู่ในบางหมวด เพราะฉะนั้นเรามองว่านโยบายดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว
เมื่อถามว่าเศรษฐกิจไทยควรที่จะเฝ้าระวังเรื่องใดบ้างในปีนี้ นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า จะมีเรื่องงบประมาณล่าช้า การขับเคลื่อนโครงการพื้นฐานที่อาจล่าช้าไปมากกว่านี้ ภาวะเงินเฟ้อก็มองว่ามีความเสี่ยงเพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจทำให้ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้นไปอีก ก็จะกระทบกับประเทศไทยด้วย ส่วนความกังวลว่าเหตุการณ์ที่กลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงนั้น ตนไม่ทราบว่าไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้เพราะทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันผ่านระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก และมีโอกาสที่จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อของโลกสูงขึ้นไปอีก เรามองว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีกว่าที่คาด แต่เติบโตในระดับที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ที่มา สยามรัฐ